การผสมพันธุ์สิ่งมีชีวิตแบบข้ามสายพันธุ์หรือข้ามสปีชีส์ ในปัจจุบันถือว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการที่มนุษย์คุณเคยกันเป็นอย่างดี เพราะมันไม่เพียงถูกใช้กับพืชในเพื่อผลผลิตที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังถูกใช้ในสัตว์อย่างวัวหรือม้าด้วยจุดประสงค์คล้ายๆ กันด้วย
แต่ทราบกันหรือไม่ว่าการทำวิศวกรรมชีวภาพแบบนี้ จริงๆ แล้วอาจเกิดขึ้นมานานกว่าที่เราคิดมาก เพราะล่าสุดนี้เอง นักวิทยาศาสตร์ก็เพิ่งจะออกมาเปิดเผยการค้นพบที่ว่ามนุษย์นั้นอาจผสมพันธุ์สิ่งมีชีวิตข้ามสายพันธุ์มาตั้งแต่เมื่อ 4,500 ปีก่อนแล้ว
การค้นพบในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ทำการวิเคราะห์ DNA กระดูกสัตว์ในซีเรีย ซึ่งเป็นของสัตว์ที่ชาวเมโสโปเตเมียเลี้ยงไว้ใช้ทำสงครามและลากพาหนะอย่าง “คุงกา” (Kunga)
เจ้าสัตว์ชนิดนี้เดิมทีแล้วปรากฏในจารึกยุคสัมฤทธิ์ของเมโสโปเตเมีย แต่กลับไม่มีการระบุแน่ชัดนักว่าเป็นตัวอะไร กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ขุดพบชิ้นส่วนกระดูกครั้งแรกเมื่อ 10 ปีก่อน
“จากโครงกระดูก เรารู้ว่าพวกมันเป็นสัตว์คล้ายม้า แต่พวกมันมีขนาดไม่พอดีกับลา หรือลาป่าของซีเรียเลย” Eva-Maria Geigl นักพันธุศาสตร์จาก Institut Jacques Monod ในปารีส ระบุ
จากผลการตรวจ DNA นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า “คุงกา” จริงๆ แล้วเป็นสัตว์ไฮบริด ที่เกิดขึ้นจากการผสมพันธุ์ลาบ้าน เข้ากับลาป่าซีเรียที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ซึ่งทำให้มันกลายเป็นสัตว์ที่แข็งแรง รวดเร็วขึ้น
แต่แม้การผสมพันธุ์สัตว์เช่นนี้จะทำให้พวกเขาได้สัตว์ที่แข็งแรงมาครอบครองก็ตาม นักวิจัยก็เชื่อว่าคุงกานั้นคงจะเป็นหมันเช่นเดียวกับสัตว์ไฮบริดหลายๆ ชนิด ดังนั้นมันจึงมีราคาแพง เพราะแทบทุกครั้งที่อยากได้คุงกา จะต้องมีการจับลาป่ามาผสมใหม่
ถึงอย่างนั้นก็ตาม นี่ก็ถือเป็นผลงานการผสมพันธุ์สิ่งมีชีวิตแบบข้ามสายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยถูกพบมาของมนุษย์เลย และแสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่ามนุษย์เราคลุกคลีอยู่กับวงการ วิศวกรรมชีวภาพ มานานกว่าที่คิดมาก
ที่มา
www.science.org/doi/10.1126/sciadv.abm0218
www.bbc.com/thai/international-60006303
www.livescience.com/hybrid-kungas-discovered-mesopotamia
www.sciencealert.com/ancient-war-donkeys-kungas-were-likely-the-earliest-bioengineered-hybrid-animals-made-by-humans