ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันเชื่อว่าหลายคนคงจะให้ความสนใจต่อ “ทางม้าลาย” กันมากขึ้นไม่น้อย เพราะในยุคที่รถวิ่งกันเต็มถนนเช่นนี้ มันคงจะไม่ดีแน่หากผู้เดินเท้าจะต้องเสี่ยงข้ามถนนไปมาในจุดที่ไม่ปลอดภัย
แต่เคยสงสัยกันไหมว่าเจ้าทางม้าลายที่เราใช้กันนั้น แท้จริงแล้วมันมีความเป็นไปเป็นมาอย่างไร ทำไมมันถึงต้องชื่อทาง “ม้าลาย” ด้วย และเพราะอะไรกัน การตีเส้นขาวบนถนนจังสามารถช่วยให้คนข้ามถนนอย่างปลอดภัยขึ้นได้
แนวคิดของ “ทางเท้า” เพื่อให้คนข้ามถนน แม้ไม่น่าเชื่อก็ตามแต่ก็มีหลักฐานว่าถูกสร้างมาตั้งแต่เมื่อ 2,000 ปีก่อนแล้ว โดยในเมืองปอมเปอี ได้มีการค้นพบหินบล็อก
ซึ่งทำให้คนเดินเท้าข้ามถนนได้โดยไม่ต้องเหยียบถนน (ซึ่งทำหน้าที่เป็นระบบระบายน้ำไปด้วย) ในขณะที่ช่องว่างระหว่างหิน จะทำให้รถลากหรือเกวียนยังคงสามารถให้ถนนได้ต่อไปตามปกติ
กระทั่งเมื่อยุคสมัยผ่านไป ในปี 1868 เมืองลอนดอนของประเทศอังกฤษ ก็เริ่มมีการนำ “เสาสัญญาณข้ามถนน” มาใช้งานเป็นครั้งแรก โดยในเวลานั้น เสาสัญญาณข้ามถนนจะได้รับการควบคุมดูแลโดยตำรวจอีกที
และหากดูแลไม่ดีมันก็อาจจะระเบิดได้จนทำให้มันไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควรนัก
และนั่นก็นำมาซึ่งปัญหา เพราะในเวลาต่อมา รถยนต์ได้เริ่มมีบทบาทบนท้องถนนอย่างก้าวกระโดด จนทำให้เริ่มมีอุบัติเหตุกับผู้ดินเท้าบ่อยครั้ง ดังนั้นในช่วงปี 1930 ประเทศอังกฤษ จึงนำแนวคิดจุดข้ามถนนกลับมาใช้อีกครั้ง
โดยจุดข้ามถนนเหล่านี้ ในช่วงแรกจะถูกทำเครื่องหมายด้วยหมุดโลหะบนถนนและเสาที่ด้านข้าง ก่อนที่เมื่อเวลาผ่านไป รัฐบาลจะทดลองทาสีต่างๆ บนทางเพื่อช่วยเสริมความปลอดภัย
กระทั่งในปี 1951 พวกเขาก็พบว่าการทาสีบนถนนเป็นแถบขาวดำ จะเป็นสีที่เห็นได้ชัดและคุ้มค่าที่สุด ทำให้ตั้งแต่นั้นมา แม้ทางสำหรับคนข้ามถนนจะยังคงเปลี่ยนแปลงไปอยู่เรื่อยๆ แต่มันก็มักจะมีสีขาวสลับดำไม่เปลี่ยนแปลง
ส่วนเหตุผลที่ ทางเช่นนี้ถูกเรียกว่า “ทางม้าลาย” (Zebra crossing) นั้น เป็นไปได้ว่าจะมาจากการที่ข้าราชการคนหนึ่งสังเกตว่าการออกแบบนั้นคล้ายม้าลาย จึงตั้งชื่อมันไปตรงๆ
และแม้ในช่วงเวลาต่อมา ประเทศอื่นๆ อาจจะมีการตั้งชื่อที่ต่างกันให้เส้นทางดังกล่าวอยู่บ้าง (เช่นทางหมีแพนด้า ทางนกเหยี่ยว หรือกระทั่งทางวอมแบต) แต่ก็ไม่มีชื่อใดเลย จะติดหูจนเอาชนะชื่อ “ทางม้าลาย” ต้นฉบับไปได้
ที่มา smithsonianmag, thecityfix และ groundtoground
One Comment
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
ขอบคุณครับ