2 พฤษภาคม 2526 ปรีดี พนมยงค์ เสียชีวิต
ศาสตราจารย์ ปรีดี พนมยงค์ หรืออำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นนักกฎหมาย อาจารย์ นักกิจกรรม นักการเมือง และนักการทูตคนสำคัญของไทย
ปรีดี พนมยงค์ เป็นคนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดในครอบครัวชาวนา ทำให้เขาได้มีโอกาสได้สัมผัสกับการเอารัดเอาเปรียบโดยผู้มีอำนาจ
ด้านการศึกษา ปรีดี จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม ก่อนจะสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตในวัยเพียง 19 ปี จากนั้นจึงเดินทางไปศึกษาด้านกฎหมายต่อที่ประเทศฝรั่งเศส หลังได้รับทุนจากกระทรวงยุติธรรม
ขณะที่ศึกษาต่อ ปี 2467 ปรีดีได้ร่วมกับนักเรียนไทยและเจ้าหน้าที่เอกอัครราชทูตสยามในฝรั่งเศสก่อตั้ง “คณะราษฏร” โดยได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้าของคณะราษฏร นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในวันที่ 24 มิถุนายน 2475
หลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ระบอบประชาธิปไตย”
เมื่อแรกเริ่มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ปรีดีได้เสนอ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” แต่กลับถูกโจมตีว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” และถูกบีบให้ออกนอกประเทศไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษในปี 2476
ในปีเดียวกันนั้นพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ทำให้ปรีดีได้เดินทางกลับไทยและรับการล้างมลทินจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์
ปรีดีมีคุณูปการต่อประเทศไทยในหลายด้าน เช่นการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการวางรากฐานการศึกษาให้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีบทบาทสำคัญในนโยบายกระจายอำนาจสู่การปกครองท้องถิ่น และมีส่วนในการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไทยเสียเปรียบ
ในเดือนมีนาคม 2489 ปรีดีได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจากคะแนนเสียงข้างมาก แต่ไม่นานก็ประกาศลาออกหลังจากถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และต้องลี้ภัยไปต่างประเทศหลังการรัฐประหารในปี 2490
หลังการลี้ภัยปรีดีลอบกลับเข้ามาประเทศอีกครั้งและพยายามยึดอำนาจคืนแต่ไม่สำเร็จ จนกลายเป็นเหตุการณ์ “กบฏวังหลวง” จนในที่สุดต้องลี้ภัยไปต่างประเทศและไม่มีโอกาสกลับมาประเทศไทยอีก
ปรีดีถึงแก่อสัญกรรม ด้วยอาการหัวใจวาย ในวัย 83 ปี เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 และมีการจัดพิธีศพแบบเงียบๆ ที่สุสานแปร์ ลาแชส กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ชีวิตทางการเมือง ปรีดียังผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญมากมาย ทั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายกรัญมนตรีคนที่ 7 ของไทย และยังถูกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลยกเป็น รัฐบุรุษ คนแรกของไทยด้วย
เรียบเรียงโดย #เหมียวเวจจี้