เคยได้ยินเรื่องราวของชายชื่อ “จอร์จ เดอ เฮเวชี ” (George de Hevesy) กันมาก่อนไหม นี่คือหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาเคมี จากผลงานการใช้ไอโซโทปเป็นตัวติดตามกัมมันตภาพรังสี และค้นพบแฮฟเนียม
แต่เรื่องราวที่น่าสนใจของชายคนนี้ กลับไม่ใช่เรื่องราวการได้รางวัลโนเบลของตัวเขาเองเท่าไหร่
มันมาจากการที่เขาเคยละลายรางวัลโนเบลของนักวิทยาศาสตร์คนอื่นทิ้งถึงสองชิ้น แถมยังเคยผสมสารกัมมันตรังสีในอาหารตัวเอง เพียงเพื่อที่จะจับผิดเจ้าของหอพักของตัวเองต่างหาก!!
จอร์จ เดอ เฮเวชี เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 1885 ในบูดาเปสต์ ฮังการี โดยเขาเป็นลูกคนที่ 5 ของครอบครัวเชื้อสายฮังการี – ยิว ที่ร่ำรวย เปิดโอกาสให้เขาได้เข้าเรียนเคมีที่มหาวิทยาลัยบูดาเปสต์เป็นเวลาหนึ่งปี
ก่อนที่จะย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งเบอร์ลินของเยอรมนีเป็นเวลาหลายเดือน และไปจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยไฟรบวร์ก สูงถึงระดับปริญญาเอก
จอร์จเล่าว่าเขานั้น มีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการติดตามกัมมันตภาพรังสีตั้งแต่ในปี 1911
โดยในเวลานั้นเข้าไปอาศัยอยู่ที่หอพักในแมนเชสเตอร์ และเริ่มสงสัยว่าเจ้าของหอพักแอบเอาอาหารเหลือกลับมาเสิร์ฟอีกครั้งโดยปะปนมากับอาหารใหม่
ตอนแรกจอร์จ เลือกที่จะพูดคุยกับเจ้าของหอถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแบบดีๆ อย่างไรก็ตามเจ้าของหอ กลับไม่เพียงแต่จะยืนยันว่าอาหารทั้งหมดเป็นของใหม่เท่านั้น แต่เธอยังไม่หยุดที่จะเสิร์ฟอาหารเก่าอีก
ดังนั้นจอร์จ จึงเล่นไม้แข็งด้วยการเอาสารกัมมันตภาพรังสีผสมในอาหารที่ตัวเองเหลือก่อนถูกเจ้าของหอเก็บ และยืนยันว่ามันถูกผสมในอาหารใหม่อีกวันด้วยกล้องอิเล็กโทรสโคปเสียเลย
อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงจะพอเดาได้แล้วว่าจอร์จนั้นเป็นคนที่มีแนวคิดแปลกนิดๆ และความแปลกนี้ก็เกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในระหว่างที่จอร์จกำลังไปทำวิจัยอยู่ในเดนมาร์ก
ในเวลานั้นเดนมาร์กได้ถูกยึดครองโดยนาซีเยอรมัน ซึ่งตามปกติน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่สำหรับคนที่มีเชื้อสายยิวแบบเขา
อย่างไรก็ตามในบันทึกของจอร์จในช่วงเวลานี้ เขากลับแลดูกำลังวุ่นกับการทดลองจนไม่ได้สนใจโลกมาก ถึงขนาดที่เจ้าตัวระบุไว้เลยว่า
“งานของผมถูกขัดจังหวะเพียงวันเดียว
ในช่วงที่ศัตรูยึดครองเดนมาร์ก”
จอร์จ เดอ เฮเวชี ระบุไว้ในบันทึกราวกับว่านาซีเป็นแค่เรื่องน่ารำคาญแบบยุง
โดยในวันนั้น ทีมงานของจอร์จได้กำลังถกกันกับปัญหาเหรียญรางวัลเหรียญโนเบลของ มัคส์ ฟ็อน เลาเออ (Max von Laue) และ เจมส์ ฟรังก์ (James Franck) ที่อยู่ในห้องปฏิบัติการ
นั่นเพราะในช่วงเวลานั้นนาซีได้สั่งให้ประเทศที่ยึดได้ส่วนใหญ่ส่งทองไปยังเยอรมนี และหากเหรียญทองที่มีชื่อนักวิทยาศาสตร์เยอรมันติดอยู่เช่นนี้ถูกพบในห้องปฏิบัติการมันก็คงไม่ใช่เรื่องดีแน่
ในตอนแรกจอร์จได้เสนอให้คนในห้องปฏิบัติการเอาเหรียญที่มีไปฝังไว้เสีย อย่างไรก็ตามพวกเขาก็กลัวว่ามันอาจถูกพบได้ ดังนั้นจอร์จจึงตัดสินใจใช้วิธีการแปลกๆ ที่เขาถนัดอีกครั้ง ด้วยการเอาเหรียญทองไปละลายทิ้งเสียเลย
“ในขณะที่กองกำลังรุกรานเดินขบวนไปตามท้องถนนในโคเปนเฮเกน
ผมก็กำลังยุ่งอยู่กับการละลายเหรียญของเลาเออและเจมส์ ฟรังก์เราสามารถกู้ทองคำกลับมาได้ หลังจากสงครามจบลง แถมมูลนิธิโนเบลก็มอบเหรียญโนเบลใหม่ให้แก่เลาเออและฟรังก์ ด้วย”
ไม่นานหลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ จอร์จก็ถูกเสนอชื่อและได้รับรางวัลโนเบลในปี 1943 จากผลงานการวิจัยของเขา โดยในเวลานั้นเจ้าตัวกำลังหลบหนีไปยังสวีเดน ทำให้กว่าที่เหรียญโนเบลจะมาถึงเจ้าตัวมันก็ในปี 1944 เลย
จอร์จ เดอ เฮเวชี เสียชีวิตไปในปี 1966 ด้วยวัย 80 ปี โดยมีลูกกับภรรยาทั้งสิ้น 4 คน และถูกจดจำไปในเวลาต่อมาในฐานะของหนึ่งในผู้บุกเบิกรังสีเคมี บิดาของการตรวจสอบไอโซโทปเรื่อยมา
ที่มา iflscience, britannica และ nobelprize