ในช่วงเวลาที่ข้อมูลกลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ ปัญหาการรับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือการมีอคติในการรับข้อมูลนั้น ถือว่ากำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่งในปัจจุบันเลยก็ว่าได้
ปัญหาที่ว่านี้ จริงอยู่ว่าเกิดขึ้นกับเหล่าผู้คนทุกเพศทุกวัย แต่ล่าสุดนี้เองดูเหมือนว่าแนวคิดทางการเมืองของผู้คน จะมีความเกี่ยวข้องกับโอกาสที่มนุษย์จะหลงเชื่อข่าวปลอมมากกว่าที่เราคิด
นั้นเพราะในจากงานวิจัยชิ้นใหม่ของสหรัฐฯ นักวิทยาศาสตร์ก็เพิ่งจะพบว่า คนที่มีแนวคิดแบบ “อนุรักษนิยม” จะมีความเสี่ยงที่จะ “เชื่อข่าวปลอม” มากกว่าคนที่มีแนวคิดแบบ “เสรีนิยม” นั่นเอง
อ้างอิงจากงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2021 ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอ ได้ทดลองทำการศึกษาผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน 1,204 คน ตั้งแต่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคมของปี 2019
พวกเขาได้รวบรวมเรื่องราวการเมืองที่เป็นกระแส 20 เรื่องในทุก 2 สัปดาห์ มาให้อาสาสมัครวิเคราะห์ว่าข่าวดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ โดย 10 เรื่องในนั้นเป็นข่าวที่เกิดขึ้นจริงๆ ในขณะที่อีก 10 ข่าวเป็นข่าวปลอม
พวกเขาพบว่าโดยรวมๆ แล้ว อาสาสมัครทั้งที่เป็นกลุ่มอนุรักษนิยมและเสรีนิยม นั้นมักจะหลงเชื่อข่าวที่เป็นด้านดีของแนวคิดของตัวเองเป็นหลัก
อย่างไรก็ตามหากมองกันในด้านสถิติอาสาสมัครกลุ่มอนุรักษนิยมกลับมีโอกาสที่จะเชื่อข่าวปลอมสูงกว่ากลุ่มเสรีนิยมอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงตัวแปรที่น่าสนใจมากๆ อีกตัวในการทดลองครั้งนี้
“ทั้งกลุ่มเสรีนิยมและอนุรักษนิยมมักจะตัดสินใจผิดพลาดเกี่ยวกับเรื่องที่จะมีอิทธิพลที่ดีต่อพวกเขา”
คุณ Kelly Garrett หนึ่งในทีมวิจัยและศาสตราจารย์
ด้านการสื่อสารของมหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอระบุ
ปัญหาสำคัญของกลุ่มอนุรักษนิยมคือ ในแต่ละสัปดาห์พวกเขาจะมีข่าวข่าวปลอมที่เป็นกระแส และส่งผลกระทบด้านดีต่อแนวคิดอนุรักษนิยมสูงกว่า กลุ่มเสรีนิยมเกือบสองเท่า
โดยหลังจากจบการทดลอง ทีมวิจัยได้พบว่ากว่า 45.8% ของข่าวปลอมที่ออกมาในช่วงเวลาที่เขาเก็บข้อมูลนั้นล้วนแต่เป็นข่าวที่ส่งผลกระทบด้านดีต่อแนวคิดอนุรักษนิยมทั้งสิ้น เทียบกับ 23.3% ที่กลุ่มเสรีนิยมได้ประโยชน์
กลับกันในด้านข่าวที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นความจริง มากถึง 65% จะเป็นข่าวที่ส่งผลกระทบด้านดีต่อแนวคิดเสรีนิยม ในขณะที่เพียง 10% มีประโยชน์ต่อกลุ่มอนุรักษนิยม
“เราจะเห็นได้ว่าข่าวเท็จทางการเมืองที่เป็นกระแสมักจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มอนุรักษนิยม ในขณะที่ความจริงมักจะสนับสนุนพวกเสรีนิยม นั่นทำให้ยากขึ้นมากสำหรับคนกลุ่มอนุรักษนิยมที่จะหลีกเลี่ยงการหลงเชื่อข่าวปลอมได้”
Kelly Garrett เสริม
จำนวนข่าวปลอมซึ่งกลายเป็นกระแสที่มากมายขนาดนี้ (อย่างน้อยๆ ก็ในช่วงเวลาการทดลอง) ทำให้ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่กลุ่มอนุรักษนิยมจะมีโอกาสหลงเชื่อข้อมูลปลอมสูงกว่าอีกฝั่ง
แต่ถึงแม้ว่าเราจะนำเรื่องจำนวนข่าวปลอมที่ต่างกันมาคำนวนแล้ว ในท้ายที่สุดกลุ่มอนุรักษนิยมก็ดูจะมีโอกาสหลงเชื่อข่าวปลอมสูงกว่าฝั่งเสรีนิยมอยู่ดี ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะมาจากการเชื่อข่าวไว้ก่อนจนเคยชิน
และความต่างนี้ก็สะท้อนให้เห็นออกมาได้เป็นอย่างดี ในการวิเคราะห์ข่าวที่ไม่เป็นประโยชน์กับทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมและเสรีนิยม
นั่นเพราะในขณะที่กลุ่มเสรีนิยมจะเคลือบแคลงในข่าวบางข่าว แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมกลับมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าข่าวทุกข่าวในส่วนนี้เป็นความจริง
“กลุ่มอนุรักษนิยมไม่ได้ทำอะไรเลวร้ายลงแต่อย่างไร
กลับกันพวกเขาแค่แยกแยะข่าวปลอมได้ไม่ทันการพัฒนาตัวของกลุ่มเสรีนิยมก็เท่านั้น”
Kelly Garrett ทิ้งท้าย
และก็ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้เอง ทางทีมวิจัยจึงสรุปว่าคนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมนั้น มีความเสี่ยงที่จะเชื่อในข่าวปลอมสูงกว่าคนที่มีแนวคิดเสรีนิยมนั่นเอง
ที่มา iflscience, osu, cnn และ sciencemag