“ความไม่เท่าเทียม” และ “การเรียกร้องสิทธิ” สองคำนี้คือ แรงขับเคลื่อนสังคมโลกและสังคมไทย
ในปัจจุบัน โดยเฉพาะบนหน้าออนไลน์ที่อาจกล่าวได้ว่า ผู้คนในโลกโซเชียลได้ขับเคลื่อนและแสดงความคิดเห็นกันอย่างตรงไปตรงมา จนสร้างแรงกระเพื่อมในการแก้ไขกฎหมายบางส่วน เพื่อให้ตรงกับเสียงเรียกร้องของคนในสังคมมากขึ้น แต่ที่สุดแล้ว ก็ยังคงเกิดคำถามซึ่งกลายเป็นที่ถกเถียงในวงกว้างอยู่ดีว่า สังคมไทยทุกวันนี้ มีความเท่าเทียมทางเพศที่แท้จริงแล้วหรือยัง?
บางคนมองว่าสังคมไทยปัจจุบันเปิดกว้าง ยอมรับตัวตนและศักยภาพของคนทุกเพศแล้ว แต่ในบางมุมมองก็ยังเห็นสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำ อคติและเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ บางคนก็มองว่า การออกมาเคลื่อนไหวประเด็นความเท่าเทียมระหว่างเพศเป็นการเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิพิเศษมากกว่าคนอีกกลุ่ม และในขณะที่บางคนเชื่อว่า การแสดงออกเหล่านั้น เพียงต้องการให้ได้มาซึ่งสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับอย่างเท่าเทียมกัน
ซึ่งการเรียกร้องนี้ มีที่มาจากปัญหาของอคติทางเพศ ที่นำไปสู่ความเชื่อที่ว่า เพศนี้ทำสิ่งนี้ไม่ได้ เพศนี้ ไม่ควรทำสิ่งนี้ เป็นการจำกัดโอกาสและการพัฒนาศักยภาพทั้งชาย หญิง และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทุกคน
“เพศกำเนิด” อาจเป็นหนึ่งในใจความสำคัญที่ทำให้เกิดค่านิยมแบ่งแยกบทบาทหน้าที่การดำเนินชีวิต การปฏิบัติตัว การแต่งตัว ถ้อยคำและความชอบระหว่างหญิงและชาย จนกลายเป็นภาพจำและภาพเหมารวมขึ้นมา เช่น การที่สีชมพูถูกเลือกให้เป็นสัญลักษณ์ของเด็กผู้หญิง และสีนี้ไม่เหมาะสมกับเด็กผู้ชาย ทั้งๆที่จริงๆแล้ว มันเป็นเพียงแค่สี และโลกนี้ไม่ได้มีเพียงสีฟ้าและสีชมพูเท่านั้น ยังมีหลากหลายเฉดสีที่สวยงาม ทั้งที่เรามองเห็น และสีที่ยังไม่ถูกค้นพบ
การไปกำหนดความชอบของบุคคลผ่านเพศกำเนิดที่เราเห็นกันมาตั้งแต่เล็ก ไม่ว่าจะเพศชาย เพศหญิงหรือผู้มีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศกำเนิด ต่างก็โดนคาดหวังสิ่งที่ ‘ควรจะเป็น’ ไม่ต่างกัน ยิ่งการถูกกดดันให้ต้องประสบความสำเร็จในชีวิตตามเพศกำเนิด ถูกต้องแน่หรือ?
แล้วหากเขาเหล่านั้น อยากเป็นเพียงคนๆนึง ไม่ได้อยากทำสิ่งที่ผู้คนคาดหวัง ก็ถือว่าเป็นการตัดสินสิ่งถูก สิ่งผิดแล้วหรือไม่… แน่นอนว่า ไม่ใช่ เพราะทุกคนย่อมมีสิทธิเลือกในการดำเนินชีวิตของตัวเอง
จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องตระหนักและทำความเข้าใจในสังคมปัจจุบันและอนาคตว่า ค่านิยมที่เคยเข้าใจและถูกถ่ายทอดปฏิบัติสืบต่อกันมา ไม่อาจจะกำหนดคุณค่าของใครคนใดคนนึงได้เลย ตราบใดที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ไม่ได้ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่อยากทำ…เป็นในสิ่งที่อยากเป็น…มีคุณค่าและควรได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
ดังนั้น จึงไม่ควรอ้างบรรทัดฐานของสังคมเพื่อตัดสินว่าเพศใดมีคุณค่ามากกว่า หรือ ควรได้รับสิทธิและโอกาสน้อยกว่าหรือเหนือกว่าใครอีกต่อไป
“เพศ” จึงไม่ได้เท่ากับ ดี หรือ ไม่ดี แต่คือ ความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีสิทธิในการดำรงชีวิตเช่นที่ตัวเองต้องการและไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น เพื่อให้สังคมได้เกิดความเข้าใจในความเท่าเทียมทางเพศที่ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล และเกิดการเปลี่ยนแปลงในแนวคิดและวิธีปฏิบัติของคนในสังคม จึงนำมาสู่การตราพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และขับเคลื่อนโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เพื่อใช้เป็นมาตรการคุ้มครองผู้ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ รวมไปถึงส่งเสริมให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิ เข้าถึงโอกาสและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในฐานะมนุษย์คนนึง