เชื่อว่าสำหรับคนที่คลุกคลีอยู่กับป๊อปคัลเจอร์ หลายคนอาจเคยเห็นตัวละครในนิยาม การ์ตูน หรือภาพยนตร์ที่มี “Photographic memory” หรือความสามารถในการจดจำทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็นราวกับ “เป็นภาพถ่าย” กันมาบ้าง
แต่เคยสงสัยกันไหมว่าความสามารถเช่นนี้ มีอยู่จริงๆ บนโลกหรือไม่?
เพราะแม้เราอาจเคยได้ยินเรื่องราวของคนที่มีความทรงจำดีมากๆ เช่นนี้บนโลกจริงๆ มาบ้าง แต่เชื่อไหมว่าในทางวิทยาศาสตร์จะยังไม่มีมนุษย์คนไหนเลยที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่ามี Photographic memory จริงๆ
กลับกันคนเหล่าที่มีความสามารถคล้ายๆ กันนี้ ส่วนใหญ่จะถูกจัดว่ามีความทรงจำแบบ “Eidetic memory” มากกว่า
โดยทั้งสองคำนี้แม้จะถูกใช้แทนกันบ่อยๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วต่างกันค่อนข้างเยอะ
เพราะต่างจาก Photographic memory ที่คนจะจำได้แทบทุกอย่างทุกรายละเอียดของสิ่งที่เห็นแม้เพียงเสี้ยวพริบตา Eidetic memory จะต้องการ “เวลา” ในการจดจำภาพ (ส่วนมากจะราวๆ 30 วินาที)
ซึ่งหากจะเทียบให้เห็นภาพก็คงต้องบอกว่า Photographic memory จะเหมือนการใช้ “ถ่ายรูป” ส่วน Eidetic memory จะเหมือนการ “สแกนรูป” ที่ต้องใช้เวลาค่อยๆ แปลงข้อมูล
และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ Eidetic memory ไม่สมบูรณ์แบบ เพราะตามปกติมนุษย์เราคงจะไม่นั่งใช้เวลา 30 วินาทีจดจำทุกอย่างที่ผ่านมาในชีวิตแน่นอน
ดังนั้นกลุ่มผู้มีความทรงจำ Eidetic memory จึงอาจจะมีข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ในความทรงจำได้ ไม่ได้จำอะไรแม่นยำถึงขนาดมีมด X ตัวเดินบนโต๊ะ ในวันที่เท่านั้นเท่านี้เมื่อ X ปีก่อน
แต่แม้จะไม่ได้ดีเท่า Photographic memory ก็ตาม Eidetic memory ก็ถือว่าเป็นความสามารถอันแสนน่าสนใจที่น้อยคนนักจะได้รับมาครอบครองเช่นกัน
มันจึงอาจไม่ใช่เรื่องผิดนักเลยที่บางคนจะเรียก Eidetic memory ว่าเป็น “ความสามารถพิเศษ” ที่ไม่ใช่ “พลังพิเศษของยอดมนุษย์”
ที่มา
frontlinejournals.org/journals/index.php/fsshj/article/view/166
www.betterhelp.com/advice/memory/difference-between-eidetic-memory-and-photographic-memory/
www.zmescience.com/science/what-is-eidetic-memory-the-poor-mans-photographic-memory/
www.iflscience.com/brain/what-is-an-eidetic-memory-and-can-i-get-one/