สงสัยไหมว่าทำไมมีข่าวเรียกคืนรถยนต์ในไทย 600,000 คัน เพื่อให้ลูกค้าเข้าไปเปลี่ยนถุงลมนิรภัย
เรื่องนี้มีที่มาที่ไปเป็นคดีความยืดเยื้อ และสำคัญต่อชีวิตของเรามากกว่าที่หลายคนคิด ถ้าใครยังไม่ทราบ เราจะพาไปย้อนประวัติศาสตร์คดีแห่งวงการยานยนต์นี้พร้อมๆ กัน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2013 กลายเป็นข่าวดังเมื่อรถยนต์จาก 4 ค่ายยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง Toyota, Honda, Mazda และ Nissan กว่า 3.4 ล้านคันถูกเรียกคืน
ซึ่งทั้งหมดมีสาเหตุเดียวกันคือ “ถุงลมนิรภัยบกพร่อง”
ผ่านมาเป็นเวลา 4 ปีจนถึงปี 2017 มีรถจากค่ายญี่ปุ่น และยุโรปเกือบ 100 ล้านคัน ถูกเรียกเคลมด้วยเหตุผลเดียวกัน!!
เหตุการณ์นี้ นับเป็นการเรียกคืนครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยมีถุงลมนิรภัยจาก Takata บริษัทผลิตอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยจากญี่ปุ่น ตกเป็นจำเลย
แม้จะผ่านมานานหลายปี แต่ทุกวันนี้การเรียกเคลมถุงลมจากผู้ผลิตรถหลายค่ายยังคงมีให้เห็นอยู่
Takata คือใคร??
นับตั้งแต่มีการประกาศสิทธิบัตรถุงลมนิรภัยของวิศวกรชาวเยอรมัน Walter Linderer และ John Hetrick วิศวกรชาวสหรัฐฯ ในช่วงปี 1950
ผ่านมาหลายทศวรรษเจ้าอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยชิ้นนี้ถูกบรรจุให้กลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถแทบจะทุกรุ่น
ปี 1988 Takata บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น เริ่มต้นการเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในรถ หันหน้าเข้าสู่การพัฒนาและผลิตถุงลมนิรภัย และเริ่มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่รถบ้านขนาดเล็กจากผู้ผลิตในประเทศ ไปจนถึงรถสปอร์ตจากอิตาลี ไม่เว้นแม้แต่รถยนต์ไฟฟ้าของ Elon Musk ก็ต่างเลือกใช้ถุงลมนิรภัยจาก Takata
จนทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ผลิตถุงลมนิรภัยเป็นอันดับ 2 ของโลก
ย่างเข้าสู่ปี 2008 หายนะเริ่มมาเยือนผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จากญี่ปุ่นรายนี้ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากรถของ Honda ที่ถูกเรียกคืนเนื่องจากปัญหาถุงลมนิรภัย
จากรถเพียง 4,000 คัน ผ่านไปไม่ถึง 10 ปี พิษของผลิตภัณฑ์ที่มีข้อบกพร่องทำให้ผู้ผลิตถุงลมนิรภัยเป็นอันดับ 2 ของโลกก็ต้องยื่นขอล้มละลายต่อศาล
ลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงจุดจบของ Takata สรุปได้ดังนี้ครับ….
ไทม์ไลน์กรณีถุงลมนิรภัยของ Takata
ปี 2008
– เดือนพฤศจิกายน Honda Motor เรียกคืน Honda Accord และ Honda Civic โฉมปี 2001 กว่า 4,000 คันทั่วโลก เนื่องจากพบปัญหาว่า ถุงลมนิรภัยของ Takata อาจมีแรงดันมากเกินไป จนทำให้ถุงลมแตก และพ่นชิ้นส่วนโลหะออกมาทำอันตรายต่อผู้ขับขี่ได้
ปี 2009
– มีผู้เสียชีวิต 2 รายในสหรัฐ จากการระเบิดของถุงลมในรถ Honda Accord โฉมปี 2001 ขณะเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตของทั้งคู่เกิดจาก เศษโลหะที่กระเด็นออกมา
ปี 2011
– ครอบครัวของ Gurjit Rathore หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อปี 2009 ฟ้องร้องทาง Honda และ Takata เรียกค่าเสียหายกว่า 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,200 ล้านบาท)
ก่อนศาลจะมีคำพิพากษาให้ Honda และ Takata จ่ายเงินชดเชยจำนวน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 91 ล้านบาท)
– Honda Motor เรียกคืนรถในแบรนด์ Honda และ Acura ที่ผลิตในปี 2001-2003 กว่า 896,000 คัน เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องถุงลมนิรภัยจาก Takata
ปี 2013
– Toyota Motor, Honda, Nissan และ Mazda เรียกคืนรถกว่า 3.4 ล้านคันทั่วโลก โดยให้เหตุผลว่าถุงลมนิรภัยของ Takata อาจมีข้อบกพร่อง
– BMW ร่วมประกาศเรียกรถคืน เพื่อตรวจสอบข้อบกพร่องของถุงลมนิรภัยด้วยเช่นกัน
– มีรายงานผู้เสียชีวิต จากอุบัติเหตุรถยนต์ โดยพบอาการบาดเจ็บบนใบหน้าที่เกิดจากชิ้นส่วนของถุงลมนิรภัย ในรถ Acura TL ปี 2002
– Takata ขาดทุนสุทธิ 212.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 7,000 ล้านบาท เนื่องจากต้องสำรองเงินเพื่อจ่ายค่าชดเชย
ปี 2014
– Toyota เพิ่มจำนวนเรียกคืนรถเป็น 2.27 ล้านคันทั่วโลก ส่วน Nissan, Honda และ Mazda เรียกคืนรถไปแล้วกว่า 2.95 ล้านคัน
สรุปตลอด 5 ปีที่ผ่านมาทั้ง 3 ค่ายเรียกคืนรถไปมากถึง 10.5 ล้านคัน!!
– BMW ประกาศเรียกคืนรถ 1.6 ล้านคันทั่วโลก
– ยังคงมีผู้เสียชีวิตจากถุงลมนิรภัยของ Takata และ Law Suk Leh หญิงชาวมาเลเซียวัย 43 ปี คือผู้เสียชีวิตจากถุงลมนิรภัยของ Takata รายแรกนอกสหรัฐฯ
– สรุปแล้วมีผู้บาดเจ็บจากกรณีถุงลมระเบิดมากกว่า 100 ราย และเสียชีวิต 8 ราย
– องค์กรบริหารความปลอดภัยบนท้องถนนของสหรัฐอเมริกา (NHTSA) ทำการสอบสวนสาเหตุการระเบิดของถุงลมนิรภัย พร้อมเผยว่าในช่วงระยะเวลา 18 เดือนที่ผ่านมา มีรถที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยของ Takata ถูกจำหน่ายในสหรัฐมากถึง 7.8 ล้านคัน
– สื่อทางสหรัฐอเมริกา รายงานข่าวว่าทาง Takata สั่งให้มีการทำลายผลการทดสอบบางอย่าง หลังจากเกิดข้อบกพร่องของถุงลมนิรภัย ซึ่งภายหลังมีการเรียกร้องให้ดำเนินคดีอาญากับ Takata
– วุฒิสภาสหรัฐฯ มีการไต่สวนกรณีถุงลมนิรภัยของ Takata
– Takata ยังคงขาดทุนต่อเนื่อง
– Stefan Stocker ประธานของ Takata ประกาศขอโทษผู้ถือหุ้น ก่อนลาออกจากตำแหน่ง หลังเข้ามาทำงานได้เพียงแค่ 1 ปี
ปี 2015
– ถุงลมนิรภัยของ Takata ยังคงคร่าชีวิตผู้ใช้รถ
– ค่ายรถอื่นๆ ร่วมเรียกคืนรถเนื่องจากสาเหตุความบกพร่องของถุงลมนิรภัย ซึ่งประกอบด้วย Mitsubishi, Subaru, Fiat Chrysler และ Ford
– รถที่ใช้ถุงลมนิรภัยจาก Takata ถูกเรียกคืนแล้วกว่า 33.8 ล้านคัน!!
– Takata ถูก NHTSA เรียกค่าเสียหายทางแพ่งสูงถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6,800 ล้านบาท) โดยจ่ายเป็นเงินสด 70 ล้านดอลลาร์สหัฐ (ประมาณ 2,100 ล้านบาท)
และอีก 130 ล้านดอลลาร์สหัฐ หาก Takata สามารถแก้ปัญหาถุงลมนิรภัยของพวกเขาได้
ปี 2016
– ทางการสหรัฐแจ้งว่ารถ Honda Accord ระหว่างปี 2001-2003 มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเหตุถุงลมระเบิด และขอร้องให้หยุดใช้รถจนกว่าจะเข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยใหม่
– มีรายงานว่า Takata อาจถูกบังคับให้เรียกคืนรถกว่า 90 ล้านคันในสหรัฐฯ
ปี 2017
– อดีตผู้บริหารของ Takata 3 คนถูกตัดสินว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ และศาลสั่งให้ Takata จ่ายชดเชยเป็นเงินสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30,000 ล้านบาท)
– มีค่ายรถกว่า 13 รายที่ได้รับความเสียหายจากความบกพร่องของถุงลมนิรภัยจาก Takata
– ค่าชดเชยจำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
ส่วนแรกจ่ายให้กับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 761 ล้านบาท)
ส่วนที่ 2 จ่ายให้กับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายจำนวน 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,800 ล้านบาท)
ส่วนที่ 3 จ่ายให้กับค่ายผู้ผลิตรถที่ได้รับความเสียหายจำนวน 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 25,000 ล้านบาท)
– หลังจากแบกรับปัญหาขาดทุนจนทนไม่ไหว ในที่สุด Takata ยื่นขอล้มละลายต่อศาล
– ตลาดหลักทรัพย์กรุงโตเกียวระงับการซื้อขายหุ้นของ Takata และถอดออกจากบัญชีรายชื่อบริษัทที่ทำการซื้อขายหลักทรัพย์
ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2019 ที่ผ่านมาศาลสหรัฐฯ ได้มีคำสั่งให้ทาง Takata จ่ายเงินงวดแรกจำนวน 9.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 298 ล้านบาท) ให้กับผู้เสียหายจำนวน 102 ราย
ภายหลังการยื่นขอล้มละลาย Key Safety Systems (KSS)บริษัทผู้พัฒนาระบบความปลอดภัยในรถยนต์ จากรัฐมิชิแกน ได้เข้าครอบครองกิจการที่เหลืออยู่ทั้งหมดของทาคาตะ โดยมีการทำข้อตกลงเข้าซื้อกิจการที่ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 48,000 บาท)
ซึ่งทาง KSS เผยว่าฐานการผลิตอุปกรณ์อื่นของ Takata อย่างเช่นพวงมาลัยรถยนต์และเข็มขัดนิรภัย ยังคงมีความเข้มแข็งและมีศักยภาพที่ดีอยู่
และพวกเขาหวังว่าการเปลี่ยนเจ้าของครั้งนี้ จะกู้วิกฤตของบริษัท ทำให้ Takata กลับมาเป็นบริษัทที่เข้มแข็งอีกครั้งหนึ่งในอนาคต
หลังจากที่เคยทำผิดพลาด จนกลายเป็นตราบาปครั้งใหญ่ให้แก่ชื่อเสียงบริษัท…
เรื่องราวที่เกิดถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนอันสำคัญที่เกิดขึ้นในวงการรถยนต์ แม้บางครั้งผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงและได้รับความไว้วางใจมากที่สุด ก็กลับสร้างปัญหาและเลือกที่จะปกปิดปัญหานั้นไว้
ปัจจุบันยังคงมีรุ่นใหม่อีกราวๆ 20 ล้านคันในสหรัฐ ที่ยังใช้ถุงลมจากผู้ผลิตรายนี้ และคาดว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 ปีถึงจะเปลี่ยนถุงลมได้ทั้งหมด
และสำหรับผู้อ่านท่านไหน ที่กำลังเป็นกังวลมีข้อสงสัยว่ารถยนต์ของเราจะใช้ถุงลมจาก Takata ด้วยหรือไม่ ก็สามารถตรวจสอบไปยังศูนย์บริการของแต่ละยี่ห้อได้เลยครับ…
ที่มา prachachat, nytimes, reuters, carscoops