กระแสของ “ชัชชาติ” มาแรง สะท้อนออกมาทั้งในโลกออนไลน์และคูหาเลือกตั้ง แต่ล่าสุดกลายเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพ ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงที่สุดในประวัติศาสตร์แล้ว
แต่ลำพังเพียงคนเดียว คงจะไม่สามารถเดินหาเสียงได้ทั่วกรุงเทพได้ เพราะฉะนั้นก็เลยต้องมีทีมงานคุณภาพ มาคอยช่วยส่งเสริมในจุดต่างๆ
ซึ่งในคอนเทนต์นี้ เราจะขอพักจากกระแสคุณชัชชาติเล็กน้อย ไปรู้จักกับอีกบุคคลที่น่าสนใจก็คือ “หัวหน้าทีมนโยบายชัชชาติ” นั่นเอง
ผู้หญิงที่เห็นในภาพมีชื่อว่า ผศ.ดร. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หรือที่ใครๆ เรียกกันสั้นๆ ว่า ดร.ยุ้ย
พูดถึงประวัติคร่าวๆ ก่อนมาร่วมทีมชัชชาติก่อน เธอเป็นชาวกรุงเทพตั้งแต่เกิด เรียนมาแตร์ฯ เตรียมอุดม ต่อจุฬาฯ ตามแบบฉบับของเด็กเรียนดีที่เราพอจะนึกภาพออก
หลังจบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ก็ได้ต่อโทด้านการเงินที่ University of California at Riverside และจบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จาก Claremont Graduate University
เพราะได้ทุนจากจุฬาฯ ในการเรียนต่อ ก็เลยกลับมาเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ
สอนไปได้สักพักหนึ่งก็ออกมา ทำงานเป็นผู้บริหารของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ “เสนา ดีเวลลอปเมนท์” (หลายคนน่าจะคุ้นชื่อเนอะ)
มาพูดถึงเรื่องการเข้ามาช่วยงานในทีมชัชชาติกันบ้าง…
เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องจากทำงานด้านอสังหาฯ ก็เลยเข้าใจเลยว่ากรุงเทพฯ นั้นมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขหลายจุด
ยกตัวอย่างเช่น…
การที่เป็นเมืองน่าเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลก แต่กลับไม่ใช่เมืองน่าอยู่
การมีอสังหาฯ ล้นจนเฟ้อ แต่กลับมีราคาแพง และคนทั่วไปไม่สามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้
การที่ช่องว่างรายได้ของคนแต่ละกลุ่มสูงมาก และมีแนวโน้มเรื่องของความเหลื่อมล้ำเหล่านี้จะมากขึ้นไปอีก
นอกจากเรื่องของปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว ยังมีเรื่องที่จับต้องและเข้าถึงได้ อย่างการเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับกรุงเทพฯ
หลายคนอาจจะตระหนักได้ว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ มีคนอยู่พลุกพล่าน แต่ก็เต็มไปด้วยจุดเสี่ยงและความไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับ “ผู้หญิง”
ด้วยความเป็นหัวหน้าทีมนโยบาย ดร.ยุ้ย ก็เลยได้นำเสนอทางออก ผ่านนโยบายต่างๆ ที่คิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น
– ปรับปรุง เพิ่มระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมและจัดตารางเวลาเหมาะสม เพื่อให้ทุกการเดินทางปลอดภัยยิ่งขึ้น
– การจัดตั้งระบบแอปฯ รายงานจากภาคประชาชน ถึงจุดไม่มีแสงสว่างเพียงพอ ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปจัดการแก้ไขได้โดยตรง
– ระบบฐานข้อมูลจุดเสี่ยง ที่นอกจากอาชญากรรมแล้ว ยังรวมไปถึงอุบัติเหต น้ำท่วม หรือโรงานอุตสาหกรรม ในชื่อ BKK Risk Map
– ส่งเสริมการทำงานด้านสาธษรณสุข ที่รวมไปถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ที่แม้แต่คนรายได้น้อยก็เข้าถึงได้อย่างสะดวก
ซึ่งนโยบายเหล่านี้ ก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งจาก 200 นโยบาย ทีทีมชัชชาตินำเสนอและยกขึ้นมาหาเสียงด้วยเช่นกัน
ด้วยความที่ต้องเรียกว่า ดร.ยุ้ย อยู่ในครอบครัวธุรกิจ ไม่ได้เดือดร้อนจากความยากจน แต่กลับมองเห็นปัญหาต่างๆ ที่คนกรุงเทพต้องพบเจอ
เธอก็เลยอยากจะเข้ามามีส่วนร่วม ในการช่วยเข้าใจถึงปัญหา และมีส่วนในการเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ผ่านสนามการเมืองและนโยบายของผู้ว่าฯ นั่นเอง
และน่าจับตามองว่า หลังจากที่ชัชชาติ ก้าวเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพอย่างเป็นทางการแล้ว อนาคต 4 ปีต่อจากนี้ เราจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในแง่บวกกับเมืองแห่งนี้มากน้อยเพียงใด
ไม่แน่ว่านี่อาจจะเป็นโอกาสที่ทำให้กรุงเทพฯ ก้าวสู้ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยก็เป็นได้…