เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินคำว่า “ฮิคิโคโมริ” กันมาบ้าง นี่คือคำนิยามที่ใช้เรียกคนที่มีพฤติกรรมปฏิเสธการเข้าสังคมแบบสุดโต่ง จนเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านหรือห้อง ไม่ยอมออกไปไหน
อาการเช่นนี้ที่ผ่านมามักจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาการทางจิตซึ่งตรวจจับได้ยาก
แต่ล่าสุดนี้เองในการศึกษาของมหาวิทยาลัยคิวชู นักวิทยาศาสตร์กลับพบว่า ผู้มีอาการฮิคิโคโมริ อาจมีความเปลี่ยนแปลงในเลือดหลายอย่าง ที่จะทำให้เราระบุตัวพวกเขาได้จากการตรวจเลือดเลย
โดยในการวิจัยนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองศึกษาเปรียบเทียบสุขภาพร่างกายระหว่าง ฮิคิโคโมริ 42 คน และสมัครที่มีสุขภาพดี 41 คน และพบว่า
ในโลหิตของคนที่มีอาการฮิคิโคโมริที่เป็นผู้ชาย หลายๆ คนจะมีระดับของ ออร์นิทีน และกิจกรรมของซีรัมอาร์จิเนสสูงขึ้น ในขณะที่มี บิลิรูบินและอาร์จินีนต่ำลงกว่าปกติ
ในขณะที่ทั้งในฮิคิโคโมริที่เป็นผู้หญิงและผู้ชายจะมีระดับอะซิลคาร์นิทีนสายยาวสูงกว่าคนที่มีสุขภาพดี ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแต่เป็นสัญญาณที่ไม่ดี และพบได้ในคนป่วยหรือซึมเศร้าทั้งสิ้น
“เมื่อเอาข้อมูลนี้ไปวิเคราะห์และจัดหมวดหมู่เพิ่มเติม เราก็สามารถแยกแยะระหว่างบุคคลที่มีสุขภาพดีและฮิคิโคโมริได้ แถมยังสามารถใช้มันคาดการณ์ความรุนแรงของอาการด้วย”
คุณทาคาฮิโระ คาโต้ นักวิจัยโรคประสาทจากคิวชูระบุ
นี่นับว่าเป็นการค้นพบที่น่าสนใจมาก เพราะการทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้ป่วยอาการทางจิตในทางชีววิทยาเช่นนี้ จะช่วยให้เราสามารถรักษาฮิคิโคโมริได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่อาจเป็นประโยชน์อย่างมากในยุคที่ฮิคิโคโมริเริ่มที่จะแพร่กระจายไปทั่วโลกแล้วเช่นนี้เลย
ที่มา
www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/19585969.2022.2046978
www.iflscience.com/health-and-medicine/hikikomori-the-extreme-selfisolation-syndrome-can-be-seen-in-the-blood/
www.kyushu-u.ac.jp/en/researches/view/230