เคยเป็นกันบ้างไหม? เวลานอนหลับแล้วฝันถึงเรื่องราวแปลกประหลาดมหัศจรรย์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นจริงบนโลกได้ อย่างฉลามว่ายอยู่ในอากาศ หรือจู่ๆ คนก็ขึ้นไปบินบนท้องฟ้าได้ แล้วต้องตื่นขึ้นมางงกับฝันตัวเอง ด้วยอารมณ์แบบว่า “นี่ฉันฝันอะไรลงไป?”
นั่นเพราะเมื่อล่าสุดนี้เองในวารสาร Patterns เราก็เพิ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งออกมาบอกว่าเขานั้น อาจจะอธิบายได้แล้วว่าทำไมบางครั้งความฝันของเรามันถึงได้แปลกเหลือเกิน
โดยเขาอ้างว่าที่เราฝันแปลกๆ นั้น อาจเพราะสมองกำลังฝึกให้เราทำความเข้าใจและยอมรับ “โลกความจริง” โดยไม่เครียดกับมันมากไปนั่นเอง
นี่คือสมมติฐานใหม่เกี่ยวกับความฝัน ที่ถูกคิดค้นโดย คุณ Erik Hoel ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยทัฟส์
โดยเขาได้แรงบันดาลใจของแนวคิดนี้มาจากการที่เวลา AI และ เครือข่ายประสาทเทียม (Neural networks) ปรับปรุงระบบอัลกอริทึม พวกมันมักจะได้รับข้อมูลที่ดูจะมั่วๆ จำนวนมาก นอกเหนือจากข้อมูลที่มันจำเป็นต้องใช้จริงๆ
เพื่อให้ระบบที่ออกมา มีความหลากหลายและยืดหยุ่นสูง และไม่ทำให้ AI เข้มงวดเกินไปในการทำความเข้าใจข้อมูล
“หากคุณดูเทคนิคที่ใช้ในการปรับปรุงระบบการเรียนรู้เชิงลึกของ AI
คุณจะเห็นว่าเทคนิคเหล่านี้บ่อยครั้งจะมีความคล้ายคลึงกับความฝัน”
Erik Hoel
คุณ Erik คาดว่าสมองของเราก็อาจจะมีวิธีการคล้ายๆ กันในการจัดการข้อมูลความเข้าใจของมนุษย์
ซึ่งส่งผลให้ในบางครั้งเราก็จะฝันเห็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นจริงได้ เพื่อให้เราสามารถทำความเข้าใจว่าโลกแห่งความจริงคืออะไรได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ไม่ “เข้มงวดเกินไป” กับการทำความเข้าใจชีวิตในเวลาเดียวกัน
“บางครั้งชีวิตของเราก็น่าเบื่อ… ความฝันจึงถูกสร้างไว้
เพื่อป้องกันไม่ให้คุณจริงจังไปกับโลกมากจนเกินไป”
Erik Hoel
แน่นอนว่าในท้ายที่สุดแล้วแนวคิดของคุณ Erik ในปัจจุบันก็ยังคงเป็นเพียงแค่สมมติฐานที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตามนี่ก็นับเป็นอีกสมมติฐานที่น่าสนใจเลยทีเดียว
เพราะหากแนวคิดนี้เป็นจริง มันก็จะสามารถให้อธิบายได้เป็นอย่างดีว่าทำไมในช่วงที่คนมีความเครียดมากๆ (เช่นในช่วงโควิด-19 ระบาด) มนุษย์เราจึงมีอัตราการฝันประหลาดๆ เพิ่มขึ้น
ไม่แน่เหมือนกันนะว่านี่อาจจะเป็นเหมือนการเตือนตัวเองของสมอง
ว่าเรานั้นไม่ควรเครียดกันจนเกินไปอยู่ก็เป็นได้
ที่มา iflscience และ sciencealert