ย้อนกลับไปเล็กน้อยในช่วงปี 2017 นักดาราศาสตร์ได้พบกับดาวประหลาดดวงหนึ่งซึ่งกำลังพุ่งออกจากทางช้างเผือกด้วยความเร็วเกือบ 3.2 ล้านกม./ชม. ซึ่งเร็วกว่าวงโคจรของดวงอาทิตย์ประมาณสี่เท่า
สวนทางกับทิศทางที่ดาวฤกษ์ส่วนใหญ่จะโคจรภายในทางช้างเผือกของเรา โดยสิ้นเชิง
ดาวประหลาดดวงนี้ต่อมาถูกตั้งชื่อว่า “LP 40-365” ดาวซึ่งมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นโลหะหนัก ซึ่งถือว่าค่อนข้างแปลกเลยสำหรับดาวประเภทนี้
เพื่อให้เข้าใจดาวประหลาดมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เวลาอย่างยาวนานในการตรวจสอบ LP 40-365 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมาซึ่งพวกเขาสามารถรวมข้อมูลของดาวดวงนี้ลงตีพิมพ์ในวารสาร The Astrophysical Journal Letters ได้
อ้างอิงจากการศึกษาของทีมวิจัย LP 40-365 นั้นเป็นดาวที่มีลักษณะเฉพาะของดาวแคระขาว และไม่มีดาวบริวารใดๆ โดยมันจะมีการส่องสว่างในราวๆ ทุก 9 ชั่วโมง
ซึ่งทำให้นักวิจัยเชื่อว่ามันน่าจะกำลังหมุนในระหว่างการเคลื่อนที่ และอาจเป็นสิ่งที่หลงเหลือมาจากเหตุการณ์ระเบิดของดวงดาว หรือซูเปอร์โนวาในอดีต
แถมซูเปอร์โนวาดังกล่าวก็อาจจะเป็น “Type Iax Supernovae” ที่เกิดขึ้นในระบบดาวคู่ซึ่งดาวแคระขาวดูดมวลที่จะใช้ในการระเบิดมาจากดาวข้าง แต่แทนที่การระเบิดจะเผาดาวดวงได้อย่างหมดจดตามปกติ มันกลับส่งดาวแคระขาวปลิวข้ามอวกาศแทนด้วย
วิดีโอทฤษฎีที่บอกว่า LP 40-365 ซึ่งเป็นดาวแคระขาว อาจค่อยๆ ดูดมวลจากดาวข้างๆ ระเบิดซูเปอร์โนวา และปลิวข้ามอวกาศ
หากแนวคิดนี้เป็นจริง มันจะไม่เพียงแต่อธิบายได้ว่าทำไมดาวดังกล่าวขึ้นโคจรแบบผิดที่ผิดทางเท่านั้น แต่นักวิทยาศาสตร์ยังอาจนำข้อมูลของมันไปเทียบกับดาวใกล้เคียง โดยเฉพาะดาวที่เคยอยู่กับมัน ศึกษาปริมาณแมกนีเซียม นีออน และองค์ประกอบอื่นๆ
เพื่อไขปริศนาเกี่ยวกับใจกลางของซุปเปอร์โนวาหรือความลับของการระเบิดของดวงดาวรูปแบบนี้ได้เลย
“เราไม่สามารถจำลองอะไรแบบนี้ได้บนโลก สภาวะแบบนั้นมันสุดขั้วเกินไปจนแหล่งข้อมูลเดียวที่เรามีคือการค้นหาดาวเช่นนี้เท่านั้น”
J.J. Hermes นักดาราศาสตร์
จากมหาวิทยาลัยบอสตันระบุ
และนั่นก็ทำให้ในปัจจุบัน LP 40-365 ได้ชื่อว่าเป็นดาวแคระขาวที่ประหลาดที่สุดเท่าที่เราเคยพบมาเลย
เพราะว่ากันตามตรง แค่การที่เราพบดวงดาวที่เคลื่อนที่สวนกระแสดวงดาวอื่นๆ ราวกับว่ามันกำลังหนีอะไรบางอย่างอยู่เช่นนี้ มันก็ไม่ใช่อะไรที่จะพบกันได้ง่ายๆ แม้ในจักรวาลที่กว้างใหญ่เลย
ที่มา livescience, astroserver, newscientist