เปิดเรื่องราวของถ้ำ “Davelis” ถ้ำลึกลับแห่งกรีก ที่รวบรวมเรื่องประหลาดเอาไว้กว่า 1,000 ปี

เคยได้ยินเรื่องราวของถ้ำ Davelis (บางทีก็เรียกว่าถ้ำ Penteli) กันมาก่อนไหม? นี่เป็นถ้ำที่อยู่บนภูเขา Penteli ใกล้ๆ เมืองเอเธนส์ ประเทศกรีซ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน

 

 

หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินชื่อภูเขานี้ในฐานะทางผ่านการวิ่งมาราธอน หรือไม่ก็สถานที่ที่มีเหมืองเก่าแก่ซึ่งใช้ขุดหินอ่อนที่นำมาทำวิหารพาร์เธนอน แต่นอกจากเรื่องเหล่านั้นแล้ว ที่แห่งนี้ ยังมีเรื่องราวแปลกๆ ซ่อนอยู่อีกมากเลย

นั่นเพราะถ้ำ Davelis ในอดีตเคยเป็นสถานที่ที่เชื่อกันว่าเป็นที่อยู่อาศัยของเทพแพน ผู้เป็นเจ้าแห่งป่าเขา กับเหล่านางไม้ จากหลักฐานโบราณวัตถุของชาวกรีกโบราณที่พบในถ้ำ และต่อมาก็ยังกลายเป็นสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับวิญญาณและความเชื่อเรื่อยมาอีกด้วย

 

ที่ปากถ้ำ Davelis มีโบสถ์เก่าแก่รูปร่างประหลาดอยู่ ซึ่งเชื่อกันว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่ในศตวรรษที่ 11

 

ว่ากันว่าใครคนที่เข้าไปในถ้ำนี้จะได้ยินเสียงประหลาดดังมาจากส่วนลึกของถ้ำ ไม่ว่าจะเป็นเสียงคน หรือแม้กระทั่งเสียงเครื่องดนตรีที่ไม่สามารถหาที่ไปที่มาได้

แถมตั้งแต่ที่มีการค้นพบในต้นศตวรรษที่ 19 ทางรัฐก็ได้รับการรายงานว่ามีผู้พบเห็นสิ่งแปลกๆ ทั้ง เงาประหลาด ยูเอฟโอ หรือแม้กระทั่งวิญญาณคนตาย

 

 

ชื่อเสียงของถ้ำนี้โด่งดังมากในปี 1977 เมื่อกลุ่มคนจำนวนมากที่อ้างตัวว่ามาจาก “องค์กรลับ” เข้ามายึดที่แห่งนี้พร้อมๆ กับล้อมลวดหนาม แถมยังมีการ “ดำเนินงาน” กับตัวถ้ำด้วยการใช้งานเครื่องมืออย่างระเบิด และรถตักดิน

การกระทำเหล่านี้ทำให้เกิดข่าวลือว่าหน่วยงานอย่าง NATO หรือรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เข้ามาทำการตรวจสอบที่แห่งนี้เพื่อจุดหมายอะไรสักอย่าง แต่ก่อนที่จะมีคนได้ตรวจสอบที่ไปที่มาของคนเหล่านี้ ในปี 1983 พวกเขาก็หายตัวไปเสียก่อน

 

 

แน่นอนว่ามีคนมากมายที่เข้ามาพยายามไขปริศนาของถ้ำ Davelis มาตั้งแต่ในสมัยก่อน และมีทฤษฎีมากมายที่ออกมาอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

โดยหนึ่งในทฤษฎีที่น่าสนใจได้แก่ทฤษฎีที่ว่าถ้ำ Davelis มีสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่ค่อนข้างแปลกอยู่ ซึ่งรุนแรงพอที่จะส่งผลต่อระบบประสาทของคนได้ และเป็นอีกเหตุผลที่ไฟฉายและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มักจะมีปัญหาเมื่ออยู่ในพื้นที่

 

 

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่สถานที่แห่งนี้จะกลายเป็นสถานที่ที่มนุษย์หวาดกลัวกันมาเป็นเวลายาวนานร่วมพันปี

 

ที่มา ancient-origins

Comments

Leave a Reply