เมื่อช่วงปลายปี ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมาที่เว็บไซต์ “bioRxiv” คลังเก็บงานวิจัยที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์เกี่ยวกับชีววิทยา ได้มีผลงานวิจัย 3 ชิ้นถูกนำมาเผยแพร่โดยนักวิทยาศาสตร์สามกลุ่ม
โดยงานวิจัยทั้งสามนี้ แม้จะมีการทดลองที่ต่างกันอยู่บ้าง แต่ก็มีจุดร่วมที่น่าสนใจอยู่หนึ่งจุด นั่นคือการที่พวกเขาใช้ระบบ AI ในการอ่านระบบเซลล์ประสาท และถอดรหัสคำพูดของมนุษย์ออกมาได้จากคลื่นความคิด
จุดร่วมของงานวิจัยทั้งสามถูกรายงานเป็นครั้งแรกโดย Kelly Servick ผู้เป็นนักเขียนของนิตยสารออนไลน์ Science และมีเนื้อความโดยสรุปดังนี้
งานวิจัยชิ้นแรกที่มีการกล่าวถึง ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 2018 โดยเกี่ยวข้องกับความพยายามในการทดลองช่วยเหลือผู้ป่วยโรคลมชักที่กำลังอยู่ในระหว่างการผ่าตัดสมอง
โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ให้ผู้ป่วยจำนวน 11 คนฟังเสียงการอ่านคำศัพท์ต่างๆ และใช้ระบบ “deep learning” ของคอมพิวเตอร์ในการอ่านการประมวลผลของสมองคนไข้ก่อนจะแสดงออกมาในรูปแบบเสียงสังเคราะห์
ผลการทดลองนั้นพบว่า AI สามารถตีความคำศัพท์ได้ถูกต้องราวๆ 75% (อ่านงานวิจัยได้ ที่นี่)
งานวิจัยชิ้นที่สองถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2018 เป็นการทดลองกับผู้ป่วยเนื้องอกในสมอง โดยการให้พวกเขาอ่านคำศัพท์หนึ่งพยางค์ และทำการบันทึกคลื่นประสาทในตอนที่อ่านมาให้ AI วิเคราะห์
ผลการทดลองของงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า AI สามารถสร้างคำคำศัพท์จากคลื่นประสาทได้ถูกต้องอย่างน่าพึงพอใจ (อ่านงานวิจัยได้ ที่นี่)
ส่วนงานวิจัยชิ้นที่สามถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในวันที่ 9 สิงหาคม 2018 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จะใช้ระบบ AI ในการสร้างคำพูดขึ้น จากการวิเคราะห์บันทึกคลื่นสมองส่วนที่ทำหน้าที่แปลงคำพูดในความคิดเป็นการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ
ผลที่ออกมานั้นไม่เพียงแต่ AI จะสามารถสร้างคำพูดที่มีความหมายถูกต้องออกมาได้ถึง 83% เท่านั้น แต่ AI ยังสามารถสร้างประโยคพูดทั้งประโยคออกมาได้เลยด้วย (อ่านงานวิจัยได้ ที่นี่)
จริงอยู่ว่างานวิจัยทั้งสามจะเป็นเพียงแค่งานวิจัยเล็กๆ ที่ยังคงต้องมีการตรวจสอบระดับน่าเชื่อถือต่อไปในปัจจุบัน แต่ความสำเร็จในการทดลองของพวกเขาชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่สามารถสื่อสารทางการพูดได้เป็นอย่างดี
ที่มา livescience และ sciencemag
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.