หากเป็นคนที่ได้มีโอกาสติดตามข่าววงการดาราศาสตร์ เพื่อนๆ อาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่าในราวๆ 4,000 ล้านปีข้างหน้า กาแล็กซีทางช้างเผือกของเราจะชนเข้ากับกาแล็กซีอันโดรเมดา และอาจนำไปสู่จุดจบของกาแล็กซีอันเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก็เป็นได้
แต่แล้วเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา ทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดอแรมในอังกฤษ ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่าก่อนที่กาแล็กซีที่กล่าวไว้ข้างต้นจะชนกัน กาแล็กซีทางช้างเผือกของเราจะต้องชนกับกาแล็กซีบริวาร (Satellite Galaxy) ที่ชื่อว่า “เมฆแมเจลแลนใหญ่” ก่อน
ภาพการรวมตัวของกาแล็กซี M51a และ M51b ที่มีมวลใกล้เคียงกับกาแล็กซีทางช้างเผือก และกาแล็กซีบริวารเมฆแมเจลแลนใหญ่
จริงอยู่ว่ากาแล็กซีบริวารเมฆแมเจลแลนใหญ่จะมีมวลเพียงแค่ 1 ใน 20 ของกาแล็กซีทางช้างเผือก แต่หากการชนกันเกิดขึ้นจริง ปริมาณมวลนี้ก็มากเพียงพอที่จะทำให้หลุมดำที่บริเวณใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือกเกิดการเปลี่ยนแปลงได้เลย
นั่นเพราะการชนกันจะทำให้หลุมดำดูดดวงดาวเข้าไปเป็นจำนวนมากจนมีขนาดใหญ่ขึ้นราวๆ 8 เท่า และอาจถึงขึ้นที่กลายเป็น “ควาซาร์” หนึ่งในวัตถุที่สว่างที่สุดในจักรวาลเลยก็ได้
เท่านั้นยังไม่พอเพราะการชนในครั้งนี้ยังจะทำให้ตำแหน่งของดาวต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกด้วย เพราะดาวจากเมฆแมเจลแลนใหญ่บางส่วน จะถูกร่วมเข้ากับกาแล็กซีทางช้างเผือกต่อไป
นับว่าโชคดีมาที่กว่าจะเกิดการชนกันดังกล่าวขึ้นจริงๆ มันก็ในอีกราวๆ 2,000 ล้านปีข้างหน้า และต่อให้เรามีลูกหลานรอดชีวิตไปถึงสมัยนั้นจริงๆ นักดาราศาสตร์ก็บอกว่าโลกของเรานั้น “แทบไม่มีโอกาส” ได้รับผลกระทบจากการชนในครั้งนี้
ที่มา livescience
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.