นักวิทยาศาสตร์ตัดต่อ DNA สร้าง “ไฮดราหลายหัว” เชื่ออาจมีประโยชน์ต่อวงการแพทย์

ยังจำตัว “ไฮดรา” ที่เราส่องดูกันในคาบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ได้อยู่ไหม? มันเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็กที่พบได้ในแหล่งน้ำ ได้รับชื่อมาจากสัตว์ในตำนานของชาวกรีก และมีการสืบพันธุ์ด้วยการแตกหน่อ

เดิมทีแล้วไฮดรามีความสามารถในการงอกตัวเองขึ้นมาใหม่ได้จากชิ้นส่วนเพียงชิ้นเดียวของร่างกาย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่มันจะถูกมองว่าเป็นอมตะในสายตาของนักชีววิทยาหลายๆ คน

 

ไฮดราโดยทั่วไป

 

ว่าแต่เคยสงสัยกันไหมว่าอะไรกันที่ทำให้เจ้าสัตว์น้ำตัวเล็กๆ นี้สามารถงอกอวัยวะออกมาใหม่ได้แบบมีจำนวนเท่าเดิมไม่ขาดไม่เกินกัน

นั่นเป็นข้อสงสัยที่ นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเจนีวาพยายามที่จะไข ในตอนที่พวกเขาทดลองตัดต่อ DNA ของไฮดรา และพบว่าหนึ่งในตัวอย่างทดลองของพวกเขาเกิดการงอกหัวจำนวนมากขึ้นมา จนมีสภาพราวกับสัตว์ประหลาดไป

 

ไฮดราที่ถูกตัดต่อ DNA

 

เดิมทีแล้วนักวิทยาศาสตร์ทราบว่าไฮดรานั้นอาศัยยีน “Wnt3” ในการงอกหัวใหม่ ถึงอย่างนั้นก็ตามพวกเขาก็เชื่อว่าไฮดราน่าจะมียีนอีกอย่างน้อยๆ หนึ่งตัวที่ใช้ควบคุมไม่ให้อวัยวะของมันงอกออกมามากกว่าที่ควรจะเป็น

และหากมองจากที่ นักวิทยาศาสตร์พบว่ายีนที่มีการทำงานมากที่สุดในระหว่างการซ่อมแซมตัวเองของไฮดรา คือยีน Wnt3, Wnt5 และ Sp5 แล้วนักวิทยาศาสตร์ก็ให้ความสนใจยีนที่ชื่อว่า Sp5 เป็นอย่างมาก

นั่นเพราะเมื่อพวกเขาลองหยุดการทำงานของยีน Sp5 ในตัวไฮดราดู เจ้าสัตว์น้ำตัวนี้ก็จะงอกหัวออกมาอย่างไม่สิ้นสุดทันทีที่หัวมันถูกตัด ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงลงความเห็นกันว่ายีน Sp5 น่าจะเป็นยีนที่ค่อยส่งสัญญาณหยุดการงอกของอวัยวะในตัวของสิ่งมีชีวิตนั่นเอง

 

การงอกตัวของไฮดรา

 

จริงอยู่ว่านี่อาจจะเหมือนกับการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ที่ดูคลั่งๆ ในหนังไม่มีผิด แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่เรารู้ว่ายีน Sp5 สามารถหยุดการงอกของอวัยวะได้นั้นนับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ เลย

เพราะนี่หมายความว่ายีน Sp5 อาจจะมีความสามารถในการหยุดการงอกของมะเร็งได้ และอาจส่งผลโดยตรงกับงานวิจัยทางการแพทย์ในอนาคตเลยก็เป็นได้

 

ที่มา livesciencephys และ express

Comments

Leave a Reply