เดิมทีแล้วเมื่อนึกถึงอาหารของมนุษย์สมัยก่อน คนเราก็คงจะนึกถึงเนื้อสัตว์บกเป็นอย่างแรกๆ ตามภาพที่สื่อต่างๆ มักจะแสดงออกมาให้เราเห็น
แต่แล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยบริสตอล ในประเทศอังกฤษ ได้ออกมารายงานผลการวิจัยชิ้นใหม่ ที่มีการอธิบายการทานอาหารที่ผิดยุคผิดสมัยของ บรรพบุรุษมนุษย์กลุ่มหนึ่งเอาไว้
นั่นเพราะ จากผลการวิจัยสารตกค้างในเครื่องปั้นดินเผาร่วม 200 ชิ้น ที่มีการพบใกล้ๆ แม่น้ำ Danube ในยุโรปแล้ว ดูเหมือนว่าในช่วงยุคหินใหม่ (ช่วงเวลาประมาณ 10,200-2,000 ปีก่อนคริสตกาล) บรรพบุรุษของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ที่นี่กลับทานปลากันเป็นหลัก ไม่ใช่เนื้อสัตว์บกอย่างที่เราเคยเข้าใจ
เพราะจากการตรวจสอบเครื่องปั้นดินเผาด้วยเทคนิคโครมาโทกราฟี-แมสส์สเปกโทรเมตรี (Chromatography-mass spectrometry) ซึ่งจะสามารถบอกได้ว่ากรดไขมันในวัตถุโบราณมีที่มาจากสัตว์ชนิดไหน นักวิจัยก็พบว่าเกือบทั้งหมดของเครื่องปั้นดินเผาที่พวกเขาตรวจสอบล้วนแต่มีไว้ใส่สัตว์น้ำจำพวกปลาทั้งนั้น
นี่นับว่าเป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะตามปกติแล้วยุคหินใหม่จะเป็นช่วงเวลาที่มีการพบร่องรอยการทำการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ของมนุษย์ ดังนั้นมนุษย์จึงเริ่มที่จะเปลี่ยนอาหารการกินเป็นพืช เนื้อ หรือผลผลิตจากสัตว์บกที่มีการเลี้ยงไว้ (และหาได้ง่ายกว่า) แทนที่จะเป็นล่าสัตว์หรือจับปลาอย่างในสมัยยุคหินกลาง
แถมเมื่อเทียบกับหมู่บ้านอื่นๆ ร่วม 1,000 แห่งที่ปรากฏขึ้นในยุคเดียวกันแล้ว คนที่อื่นก็มักจะเปลี่ยนประเภทอาหารการกินไปหมดแล้ว ทั้งที่ในบรรดาหมู่บ้านเหล่านั้นก็มีหลายแห่งเลยที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีแม่น้ำสายใหญ่ ทะเล หรือแหล่งจับปลาชั้นดีอื่นๆ
การค้นพบในครั้งนี้ทำให้พวกเราทราบว่าคนโบราณที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ ทานปลาเป็นหลักหลังจากที่เรียนรู้วิธีทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ซึ่งมีผลผลิตที่แน่นอนมากกว่าการจับปลาในแม่น้ำ ไปเป็นเวลานานมาก
แม้นักโบราณคดีจะยังไม่มั่นใจว่าทำไมคนในพื้นที่นี้จึงได้ทานปลาเป็นหลักไม่เปลี่ยนแปลงเช่นนี้ แต่พวกเขาก็คาดเดาว่านี้อาจจะเป็น วัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาแต่โบราณของคนท้องถิ่นก็เป็นได้
อย่างไรก็ตามคงจะมีแต่คนสมัยก่อนเท่านั้นที่บอกได้ว่า อะไรกันที่ทำให้พวกเขาไม่ยอมเปลี่ยนอาหารการกินตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา และไม่แน่นะว่าเหตุผลของพวกเขาอาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ กว่าที่พวกเราคิดอย่าง “เพราะชอบรสชาติของปลา” ก็เป็นได้
ที่มา allthatsinteresting และ royalsocietypublishing
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.