การวิจัยเผย โลกเคยเกือบเสียสนามพลังแม่เหล็กในอดีต โชคดีที่แกนโลกแข็งตัวทันพอดี

เป็นเรื่องที่ทราบกันว่าสนามพลังแม่เหล็กของโลกนอกจากจะทำให้เข็มทิศสามารถหันไปทางเหนือได้อย่างถูกต้องแล้วมันยังช่วยป้องกันโลกของเราจากลมสุริยะและรังสีคอสมิก จนเรียกได้ว่าสนามพลังแม่เหล็กเป็นดั่งโล่ที่คอยปกป้องโลกจากภัยอันตรายจากอวกาศเลยก็ไม่ผิดนัก

สนามพลังแม่เหล็กอาจจะฟังดูเหมือนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับโลกของเรามาเป็นเวลานานแล้ว แต่จากการวิจัยใหม่ของเหล่านักดาราศาสตร์ ดูเหมือนว่าโล่ที่คอยปกป้องโลกในปัจจุบัน จะเพิ่งเกิดขึ้นมาได้ราวๆ 565 ล้านปีเท่านั้นเอง

 

 

นักดาราศาสตร์ได้ออกมาบอกว่าเมื่อราวๆ 565 ล้านปีก่อน สนามพลังแม่เหล็กของโลกกำลังอยู่ในช่วงที่มีความหนาแน่นต่ำที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเหนี่ยวนำทางไฟฟ้าหรือ “ไดนาโม” ของโลกอยู่ในสภาพที่แย่สุดๆ

ผลการวิจัยนี้ออกมาหลังจากที่ John Tarduno นักธรณีฟิสิกส์มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ ได้ตรวจสอบการรวมตัวของแม่เหล็กในผลึกเดี่ยวของแร่กลุ่ม Plagioclase และ Clinopyroxene ที่เกิดขึ้นราวๆ 565 ล้านปีก่อน เพื่อหาลักษณะของสนามพลังแม่เหล็กโลกในเวลานั้น

 

 

พวกเขาพบว่าโลกในช่วงที่แร่เหล่านี้เกิดขึ้นมีความหนาแน่นของสนามแม่เหล็กต่ำอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จนถึงขั้นที่พวกเขาสามารถกล่าวได้ว่าสนามแม่เหล็กเกือบจะพังทลายไปในเวลาอันใกล้

แม้เราจะไม่รู้ว่าสาเหตุที่ความหนาแน่นนี้ของโลกต่ำเกิดจากอะไร แต่นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการหมุนรอบตัวเองของโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่โลกมีการเหนี่ยวนำทางไฟฟ้าตามทฤษฎีไดนาโม

 

 

แต่โชคดีมากที่ในช่วงเวลานั้น แกนด้านในของโลกเกิดการแข็งตัวขึ้นมาในระดับที่เหมาะสมพอดี

เพราะการที่โลหะเหลวส่วนหนึ่งของแกนโลกแข็งตัวนี้เองได้ช่วยให้สนามพลังแม่เหล็กของโลกที่เคยกระจายออกไปทั่วทุกทิศ เปลี่ยนไปเป็นรูปคล้ายเครื่องหมาย ∞ แบบในปัจจุบัน และช่วยเหลือโลกเอาไว้ได้อย่างทันท่วงที

 

 

จริงอยู่ที่ว่าการแข็งตัวของแกนโลกในเวลานั้นจะยังไม่ถือว่าสมบูรณ์จริงๆ แต่ก็มากพอที่จะทำให้สนามพลังแม่เหล็กคืนสภาพกลับมาได้ และเมื่อแกนโลกเริ่มแข็งตัวมากขึ้นสนามแม่เหล็กก็มีสภาพที่ดีขึ้นไปด้วย และอยู่รอดมาคอยปกป้องพวกเราแบบในปัจจุบันนั่นเอง

 

ที่มา zmescience และ sciencenews

Comments

Leave a Reply