พบเชื้อราชนิดใหม่ที่วิหารในโปรตุเกส ไชเส้นใยลงหินแถมยังเป็นกรด ทำลายโบราณสถาน

โบราณสถานที่สำคัญๆ ของโลกนั้นมีศัตรูอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ ภัยธรรมชาติ หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวที่เขามาในพื้นที่ นั่นเพราะสิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่จะทำให้โบราณสถานเสื่อมสภาพรวดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น

และสำหรับวิหารเก่าแก่อายุกว่า 800 ปีอย่างวิหาร Sé Velha de Coimbra ที่โปรตุเกสแล้วศัตรูที่น่ากลัวที่สุดตั้งแต่ที่มีการก่อสร้างวิหารมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 12 ก็ไม่ใช่ ภัยธรรมชาติหรือมนุษย์แต่เป็นเชื้อราตัวเล็กๆ ต่างหาก

 

 

นั่นเพราะเมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมาเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่เข้าสำรวจวิหารอันเป็นหนึ่งในมรดกโลกขององค์กรยูเนสโกแห่งนี้ ก็ได้พบว่าวิหาร Sé Velha de Coimbra กำลังถูกกัดกินโดยเชื้อราที่มนุษย์ไม่รู้จักมาก่อนอยู่

นี่เป็นเชื้อราสีดำที่มีความสามารถในการกระจายเส้นใยลงไปในเนื้อหิน ซึ่งหากปล่อยไว้นานเกินไปและไชลึกลงไปในตัวโบราณสถาน และนำมาซึ่งรอยแตกร้าวบนผนังของวิหารอันทรงคุณค่าได้

 

 

เมื่อราชนิดนี้งอกขึ้นมาที่ไหนแล้ว มันจะกำจัดได้ยากมากๆ เพราะพวกมันมีความทนทานต่อสภาพอากาศ อยู่ได้นานแม้จะมีภัยแล้ง ทนกับรังสีอัลตราไวโอเลต หรือแม้กระทั่งอุณหภูมิที่สูงมากๆ

เท่านั้นยังไม่พอเพราะเชื้อราที่พบนี้ยังสามารถสร้าง “พอลิแซ็กคาไรด์” ที่มีฤทธิ์กัดกร่อนซึ่งจะทำลายพื้นที่ที่มีราชนิดนี้ขึ้นอย่างรวดเร็วเข้าไปอีก

 

 

ความสามารถอันน่ากลัวของเชื้อรานี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์มองพวกมันว่าเป็นภัยต่อวิหาร Sé Velha de Coimbra เป็นอย่างยิ่ง และหลังจากที่ทำการตรวจสอบเชื้อราที่พบอย่างละเอียด พวกเขาก็ได้ตั้งชื่อให้เชื้อราชนิดนี้ว่า “Aeminium ludgeri”

เป็นไปได้ว่าราชนิดนี้จะติดมากับวิหารแห่งนี้ตั้งแต่ตอนที่มีการก่อสร้างเลย โดยอาจจะติดมากับหินปูนที่ขุดขึ้นมาจากเหมืองหินสองแห่งที่อยู่ใกล้ๆ อีกที

และแม้ว่าในปัจจุบันวิหาร Sé Velha de Coimbra จะยังเป็นสถานที่เดียวที่มีการค้นพบราแบบนี้ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ทิ้งความเป็นไปได้ว่าโบราณสถานอื่นๆ ในประเทศ (โดยเฉพาะที่ใช้หินปูนจากที่เดียวกัน) ก็อาจจะมีเชื้อราดำอยู่เหมือนกัน

 

ที่มา livescience และ dailymail

Comments

Leave a Reply