เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระหว่างที่ Michael Richardson บรรณารักษ์ของห้องสมุดแห่งมหาวิทยาลัยบริสตอลกำลังตรวจสอบหนังสือโบราณจำนวนหนึ่งจากศตวรรษที่ 16 อยู่ เขาก็บังเอิญพบกับเศษหน้าหนังสือจำนวน 7 แผ่นที่ระบุชื่อของตัวละครจากตำนานกษัตริย์อาเธอร์เอาไว้ในภาษาฝรั่งเศสโบราณ
หนึ่งในเศษหน้าหนังสือที่พบ
Michael รู้สึกแปลกใจกับสิ่งที่เขาพบมาก เพราะหนังสือที่เขาพบเศษหน้าหนังสือนั้นไม่ได้มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องอะไรกับตำนานกษัตริย์อาเธอร์เลย ดังนั้นเขาจึงติดต่อ Dr. Leah Tether แห่งสมาคมตำนานกษัตริย์อาเธอร์ให้มาช่วยแปลภาษาหนังสือที่พบทันที
โดยหลังจากที่ทีมงานแปลเอกสารไปได้ส่วนหนึ่ง พวกเขาก็พบว่าเศษหน้าหนังสือที่พบระบุเรื่องราวของ “เมอร์ลิน” พ่อมดที่มีชื่อเสียงจากตำนานกษัตริย์อาเธอร์ในตอนที่เขาวางแผนรบกับกษัตริย์คลอดัสที่เป็นศัตรูในประเทศฝรั่งเศสเอาไว้
ภาพของเมอร์ลินจากหนังสือตำนานกษัตริย์อาเธอร์ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1903
แต่เรื่องที่ทำให้พวกเขาแปลกใจกับไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น เพราะจากคำบอกเล่าของ Dr. Leah เรื่องราวในเศษหน้าหนังสือที่พวกเขาพบ ยังมีความแตกต่างจากเรื่องราวของกษัตริย์อาเธอร์ที่เรารู้จักในระดับที่ “ไม่มากแต่ก็สำคัญ”
หนึ่งในความแตกต่างที่พวกเขาพบคือในตำนานที่เรารู้จักกษัตริย์คลอดัสจะต้องได้รับบาดเจ็บที่ต้นขา แต่ในเศษหน้าหนังสือกลับไม่ได้มีการระบุเอาไว้ว่ากษัตริย์คลอดัสบาดเจ็บที่ไหน ซึ่งสามารถทำให้ภาพลักษณ์ของตัวละครและการรบเปลี่ยนไปมาก
น่าเสียดายที่เศษหน้าหนังสือที่พวกเขาพบค่อนข้างที่จะเสียหายมาก ดังนั้นทางทีมงานของ Dr. Leah จึงบอกว่าพวกเขาน่าจะต้องใช้เวลาในการถอดรหัสค่อนข้างนาน และอาจต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอื่นๆ อย่างอินฟราเรดเลยด้วย
Dr. Leah Tether (ซ้าย) กับ Michael Richardson (คนที่สองจากทางขวา) และทีมงานของมหาวิทยาลัยบริสตอล
ถึงอย่างนั้นก็ตาม ทางทีมงานก็รู้สึกตื่นเต้นมากที่จะได้ถอดรหัสเศษหน้าหนังสือเหล่านี้ และพวกเขาก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำเสนอเนื้อหาทั้งหมดในเศษหน้าหนังสือที่พบให้กับสาธารณชนได้ในอนาคต
ที่มา livescience และ bbc
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.