ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ไปจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ประเทศในแถบหลายประเทศ ได้มีการสร้าง “สวนสัตว์มนุษย์” ขึ้นมาเพื่อจัดแสดงเหล่าชนพื้นเมืองต่างชาติที่ถูกมองว่า “แปลกประหลาด” และเปิดให้คนภายนอกเข้ามาดูราวกับเพื่อนมนุษย์เป็นเพียงแค่สิ่งบันเทิงอย่างหนึ่งเท่านั้น
สวนสัตว์ในรูปแบบนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกๆ ในฐานะงานแสดงของแปลกที่มักจะถูกจัดขึ้นหลังจากที่ชาวยุโรปไปออกสำรวจโลก และพาคน สัตว์ หรือสิ่งของกลับมาเพื่อเป็นหลักฐานการเดินทาง
โดยงานแสดงของแปลกที่มีชื่อเสียงในช่วงเวลานี้ก็ได้แก่การจัดแสดงผู้หญิงพื้นเมืองแอฟริกาใต้ที่ชื่อว่า Saartjie Baartman ในช่วงปี 1810-1815 เป็นต้น
ภาพการ์ตูนล้อเลียนของ Saartjie Baartman ในตอนที่เธอถูกจัดแสดงในลอนดอน เมื่อต้นศตวรรษที่ 19
อย่างไรก็ตามแรงบันดาลใจของการเปิดสวนสัตว์มนุษย์ส่วนมาก เชื่อกันว่ามาจากชายชาวเยอรมันที่ชื่อ Carl Hagenbeck ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 มากกว่า
นั่นเพราะในช่วงนั้น การเลี้ยงดูสัตว์ในสวนสัตว์มักจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง Carl ที่ทำงานเกี่ยวกับสัตว์หายาก จึงหาสิ่งดึงดูดความสนใจอื่นๆ เพื่อเพิ่มเงินให้กับธุรกิจของเขา
โปสเตอร์โฆษณางานแสดงของชาวเซมีของ Carl Hagenbeck ในปี 1893
เขาตัดสินใจที่จะนำชนพื้นเมืองเข้ามา “ช่วย” จัดแสดงสัตว์ที่พบในท้องถิ่นของพวกเขา คล้ายๆ คณะละครสัตว์ และได้รับความนิยมมาก จนทำให้ชาวยุโรปหลายๆ คนสนใจในความสามารถในการทำเงินของชาวพื้นเมือง
และในช่วงเวลานี้เองที่ชาวพื้นเมืองถูกจับมาจัดแสดงจนเกิดเป็นกระแสของสวนสัตว์มนุษย์ในประเทศไป
จริงอยู่ว่าการจัดแสดงสวนสัตว์มนุษย์อาจจะดูเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นก็ตาม แต่หากจะพูดกันตามตรงแล้วมันกลับมีรากฐานที่เก่าแก่กว่าที่เราคิด
เพราะตั้งแต่ในสมัยอียิปต์โบราณ เราก็มีหลักฐานภาพฝาผนังที่มีการนำคนชาติต่างๆ มายืนเทียบกันจากยุคของฟาโรห์เซติที่ 1 แถมในสมัยของชาวโรมันเองก็มีการนำนักโทษสงครามที่เป็นชาวต่างชาติไปเดินขบวนโชว์รอบเมืองเช่นกัน
นับว่าโชคดีมากที่ในช่วงศตวรรษที่ 20 เสียงตอบรับต่อสวนสัตว์มนุษย์ก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละนิด จากที่เคยมีคนสนับสนุนมาก สวนสัตว์มนุษย์ก็เริ่มถูกมองว่าโหดร้ายทารุณไร้มนุษยธรรม ทำให้สวนสัตว์มนุษย์ค่อยๆ หายไปจากโลกใบนี้ในที่สุด
ที่มา ancient-origins, britannica, wikipedia และหนังสือ Savages and Beasts: The Birth of the Modern Zoo
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.