นักวิทยาศาสตร์พบเมืองเชอร์โนบิลในปัจจุบัน มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมายกว่าที่เราคิด

ตั้งแต่ที่เกิดอุบัติเหตุเตาปฏิกรณ์หลอมละลายที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศยูเครนเมื่อปี 1986 พื้นที่ของเมืองเชอร์โนบิลก็กลายเป็นสถานที่ที่เติมไปด้วยกัมมันตรังสีรุนแรง จนทำให้พื้นที่แถวๆ นั้นกลายเป็นพื้นที่ร้างที่ไร้ซึ่งสิ่งมีชีวิตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน… อย่างน้อยนั่นก็เป็นสิ่งที่เราเคยเชื่อกัน

 

 

เพราะเมื่อล่าสุดนี้เองในวารสาร “Food Webs” ฉบับเดือนมีนาคมปี ค.ศ. 2019 ก็ได้ตีพิมพ์งานวิจัยใหม่ล่าสุด ที่บอกเราว่าในปัจจุบันที่เชอร์โนบิลนั้นไม่เพียงแต่มีสัตว์ป่าเข้าไปอาศัยอยู่แล้วเท่านั้น แต่ยังมีปริมาณสัตว์ป่าในธรรมชาติที่สูงมากๆ อย่างไม่น่าเชื่อเลยด้วย

โดยนี่เป็นงานวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ที่เข้าไปตรวจสอบเขตยกเว้นของเชอร์โนบิลตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา และมีการตั้งกล้องตรวจจับสิ่งมีชีวิตทั่วพื้นที่ที่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่

 

สุนัขหมาป่าที่เคยมีรายงานการพบเห็นที่เชอร์โนบิล

 

จากการตรวจสอบวิดีโอที่ได้มาทีมนักวิทยาศาสตร์ก็พบกับสัตว์มีกระดูกสันหลังที่ต่างกันถึง 15 ประเภทในพื้นที่ ประกอบไปด้วยสัตว์ปีก 5 สายพันธุ์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก 10 สายพันธุ์

โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่น่าสนใจที่ถูกค้นพบนั้นได้แก่ หนู หมาป่า แรคคูน ตัวมิงค์ ตัวนาก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ไม่คาดคิดมาก่อนเลยว่าจะเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ได้

 

ภาพของตัวนากที่ถูกถ่ายไว้ในระหว่างการวิจัย

 

อันที่จริงงานวิจัยนี้ก็ไม่ใช่งานวิจัยแรกที่มีการค้นพบสัตว์จำนวนมากในเชอร์โนบิลเช่นกัน เพราะในปี 2015 เองนักวิทยาศาสตร์ที่เข้ามาสำรวจเชอร์โนบิลก็เคยพบกับกวาง หมูป่า และหมาป่า ในจำนวนมากมาแล้ว

อย่างไรก็ตามจากการวิจัยครั้งใหม่นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่าสัตว์ที่มีปริมาณมากในที่นี้มักจะเป็นสัตว์กินซากเสียเป็นส่วนใหญ่ และจากการที่ปลาที่นักวิทยาศาสตร์ทดลองปล่อยกว่า 98% โดนจับกิน พวกเขาก็เชื่อว่าสัตว์น้ำในพื้นที่น่าจะกลายเป็นเหยื่อที่สำคัญต่อระบบนิเวศใหม่ไปแล้ว

 

กวางมูสที่ถูกพบในปี 2015

 

แต่ถึงแม้ว่าสัตว์ป่าจะเริ่มกลับมายังเชอร์โนบิลแล้วก็ตามพื้นที่แห่งนี้ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยต่อมนุษย์แล้วอยู่ดี และกว่าที่พื้นที่แห่งนี้จะกลับมามีสภาพเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของมนุษย์อีกครั้งก็คงจะกินเวลาอีกนานแสนนานเลย

 

ที่มา iflscience และ sciencedirect

Comments

Leave a Reply