พบโบราณสถานอายุนับ 1,000 ปี กว่าร้อยแห่งทางตะวันตกของทะเลทรายซาฮาร่า

ในช่วงปี ค.ศ. 2002-2009 นักโบราณคดีได้ทำการสำรวจ พื้นที่ทางตะวันตกของทะเลทรายซาฮาร่า ซึ่งถูกปกครองโดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยอาหรับซาห์ราวี และประเทศโมร็อกโก

ที่นั่นพวกเขาพบกับโบราณสถานที่ทำจากหินจำนวนร่วมร้อยแห่ง ที่มีอายุมากกว่า 1,000 ปี แถมยังมีความหลากหลายทั้งในด้านขนาด รูปร่าง และการใช้งานที่น่าจะเป็นในอดีต

 

 

โบราณสถานที่พบมีทั้งแบบที่สร้างเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว วงกลม เส้นตรง สี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ดูเหมือนเวที หรือแม้กระทั่งโบราณสถานที่มีการรวมรูปทรงทั้งหมดเข้าด้วยกันจนมีความยาวถึง 630 เมตร

สาเหตุที่สถานที่แห่งนี้มีโบราณสถานที่ไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน ดูเหมือนว่าจะเกิดจากการที่ทะเลทรายซาฮาร่าทางตะวันตกแทบจะไม่เคยมีนักโบราณคดีเข้าไปสำรวจ เนื่องจากในสมัยก่อนสองประเทศที่เป็นเจ้าของพื้นที่กำลังอยู่ในภาวะสงครามต่อกันและกัน

 

 

Joanne Clarke อาจารย์อาวุโสที่มหาวิทยาลัย East Anglia บอกว่า “เนื่องจากความขัดแย้ง การวิจัยทางโบราณคดีและสภาพแวดล้อมในทางตะวันตกของทะเลทรายซาฮาร่าจึงมีอยู่อย่างจำกัด”

อย่างไรก็ตามหลังจากที่สงครามจบลงในปี 1991 ในที่สุดพื้นที่แห่งนี้ก็ได้รับการเข้าสำรวจอย่างจริงจัง และนำมาซึ่งการค้นพบมากมายดั่งที่รายงานไว้ข้างต้น

 

 

จริงอยู่ว่านักโบราณคดีจะยังไม่ได้ทำการขุดค้นโบราณสถานหลายๆ แห่ง จนไม่อาจฟันธงได้แน่ชัดว่าโบราณสถานที่พบใช้งานอย่างไร แต่พวกเขาก็สันนิษฐานว่าโบราณสถานหลายแห่งน่าจะทำหน้าที่เป็นสุสาน จากการที่โบราณสถานสองแห่งที่ถูกขุด มีโครงกระดูกของมนุษย์บรรจุอยู่ภายใน

โดยเมื่ออ้างอิงจากการตรวจสอบหาอายุด้วยคาร์บอนแล้ว นักโบราณคดีก็พบว่ากระดูกของมนุษย์เหล่านี้ มีอายุอยู่ที่ราว 1,500 ปี

 

 

การที่ทะเลทรายมีจำนวนโบราณสถานมากมายแบบนี้ทำให้นักโบราณคดีตั้งทฤษฎีที่ว่าทะเลทรายซาฮาร่าทางตะวันตกน่าจะเคยเป็นพื้นที่ที่มีแห่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์มาก่อน และแหล่งน้ำเหล่านั้นน่าจะเพิ่งจะแห้งไปในช่วงพันปีก่อนเท่านั้น

น่าเสียดายที่ในปัจจุบันการสำรวจทะเลทรายซาฮาร่าทางตะวันตกต้องถูกหยุดลงเป็นการชั่วคราวจากปัญหาทางด้านความปลอดภัย ดังนั้นกว่าที่เราจะได้ทราบความลับของโบราณสถานเหล่านี้ มันก็คงต้องใช้เวลาอีกนานเลย

 

 

ที่มา livescience

Comments

Leave a Reply