ในปี 2010 โรงแรม Redland ในนครเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ได้ทำการเลหลังขายเตียงเก่าแก่ที่ถูกตั้งไว้ในห้องฮันนีมูนสวีทของโรงแรมมาเป็นเวลายาวนานกว่า 15 ปี
ด้วยความที่ว่าเตียงตัวนั้นเป็นเตียงเก่าแก่ที่มีลักษณะเป็นงานฝีมือของช่างไม้ในอดีต ทำให้คนขายของโบราณอย่าง Ian Coulson สนใจในเตียงตัวนี้ และตัดสินใจซื้อมันมาเก็บไว้ในราคาราวๆ 90,000 บาท
ในเวลานั้น Ian คิดว่าเตียงตัวนี้เป็นเตียงจากสมัยวิกตอเรีย (ช่วงปี ค.ศ. 1837-1901) เท่านั้น แต่หลังจากที่ได้เตียงดังกล่าวมาจริงๆ เขาก็เริ่มสงสัยว่าเตียงที่ตนซื้อมา แท้จริงแล้วอาจจะเป็นของกษัตริย์เฮนรี่ที่เจ็ดในช่วงศตวรรษที่ 15 ต่างหาก
เตียงที่พบนี้อาจจะเป็นเตียงแต่งงานของกษัตริย์เฮนรี่ที่เจ็ดในช่วงที่แต่งงานกับเอลิซาเบธแห่งยอร์กใหม่ๆ ก็เป็นได้
นั่นเพราะในตอนที่ตรวจสอบเตียงที่ได้มา Ian ก็พบว่าไม้โอ๊คแข็งที่ใช้ทำเตียงมีร่องรอยความเสียหายมากเกินกว่าที่ควรจะเป็นในกรณีที่มาจากยุควิกตอเรีย แถมที่เสาเตียงยังมีร่องรอยของปฏิกิริยาออกซิเดชันในปริมาณที่ต้องใช้เวลาหลายศตวรรษในการสะสม
เท่านั้นยังไม่พอ การประดับตกแต่งอื่นๆ ของเตียงอย่างโล่ที่ติดอยู่ด้านบนหรือใบหน้าของอาดัมและเอวาที่มีการแกะสลักไว้ก็ล้วนแต่เป็นศิลปะในรูปแบบของช่วงศตวรรษที่ 15 ทั้งนั้น
ดังนั้นเมื่อลองเทียบข้อมูลที่มีกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ Ian และเหล่านักโบราณคดีที่เขารู้จักจึงเริ่มสงสัยขึ้นมาว่าเตียงที่พบนี้อาจจะเป็นเตียงของกษัตริย์เฮนรี่ที่เจ็ดก็เป็นได้
แน่นอนว่าตัวตนของเตียงที่พบนี้ย่อมกลายเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่วันที่มีการค้นพบ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เองเตียงที่ Ian ซื้อมาก็ถูกส่งเข้าตรวจสอบอย่างจริงจังโดยนักวิทยาศาสตร์
และผลการตรวจสอบในตอนนั้นก็ออกมาว่าเตียงที่พบนี้มีการใช้ไม้โอ๊ค “Haplotype-7” ที่พบในประเทศฝรั่งเศสไปจนถึงเบลารุสซึ่งเป็นไม้ที่ใช้งานกันหมู่ชนชั้นสูงของช่วงศตวรรษที่ 15
นอกจากนี้บนตัวเตียงเองยังมีร่องรอยของภาพวาดที่มีการผสมสีฟ้าจาก “ลาพิส ลาซูลี่” แร่ธาตุผสมซึ่งในสมัยนั้นแพงยิ่งกว่าทองลงไปเป็นจำนวนมาก สนับสนุนแนวคิดที่ว่านี่เป็นเตียงของกษัตริย์ (หรืออย่างน้อยๆ ก็ชนชั้นสูง) ได้เป็นอย่างดี
ถ้านี้เป็นความจริงเตียงที่พบนี้จะกลายเป็นหนึ่งในการค้นพบที่สำคัญที่สุดจากสมัยราชวงศ์ทิวดอร์เลยก็เป็นได้ เพราะนี่จะกลายเป็นเครื่องใช้ของกษัตริย์เพียงชิ้นเดียวที่เหลือรอดมาจากช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษนั่นเอง
ที่มา livescience, nationalgeographic และ ancient-origins
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.