เคยสงสัยไหมว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนคนหนึ่งยังคงมีสติอยู่? หลายคนอาจจะมองว่าคำถามนี้ไร้สาระ แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เรื่องหนึ่งของวงการแพทย์
ตามปกติแล้วคนเราจะมองคนที่สามารถตอบสนองต่อการกระทำของเราได้ว่ายังมีสติ แต่หากมองให้ลึกลงไปเราก็จะรู้ว่าการตอบสนองไม่ใช่สิ่งที่จะตัดสินได้ทุกอย่าง
เพราะบางครั้งแม้แต่คนไข้ที่นอนเป็นผักหรือเจ้าหญิง/เจ้าชายนิทราก็อาจจะยังมีสติได้เช่นกัน…
น่าเสียดายที่ต้องบอกว่าที่ผ่านๆ มาเราไม่มีวิธีการที่ตรวจสอบความมีสติที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมเลย จนกระทั่งในเมื่อไม่นานมานี้
นั่นเพราะเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา ในวารสารออนไลน์ “Science Advances” ได้มีการตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นใหม่ ที่อาจจะให้คำตอบของปริศนาที่ว่าเราจะทราบได้อย่างไรว่ามนุษย์ยังมีสติอยู่
โดยนี่เป็นงานวิจัยที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ และอาศัยการสังเกตคลื่นสมอง เพื่อเรียนรู้ว่าสมองของมนุษย์มีการทำงานเช่นไร ในขณะที่คนเรามีสติ
การทดลองในครั้งนี้ มีเป้าหมายหลักอยู่ที่การช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุและอยู่ในสภาพที่นอนไม่ได้สติ ภายใต้การสันนิษฐานว่าในช่วงเวลาที่พวกเขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จริงๆ แล้วพวกเขาจะมีสติขึ้นมาอยู่เป็นพักๆ
ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงตัดสินใจใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “Functional Magnetic Resonance Imaging” หรือฟังก์ชันการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก fMRI ในการวัดการ “ติดต่อกัน” ของพื้นที่ต่างๆ ในสมอง
เช่นเมื่อสมองส่วนนี้ทำงานเลือดจะสูบฉีดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น หรือมีการใช้งานออกซิเจนมาขึ้นเป็นต้น
โดยเมื่อนำข้อมูลที่ได้จากคนไข้ 53 รายไปเปรียบเทียบกับคนปกติ 47 คน ทีมนักวิทยาศาสตร์ก็พบว่าในสมองของเราจะมีการติดต่อกันในรูปแบบที่ซับซ้อนในพื้นที่สมอง 42 แห่ง
ทุกๆ ครั้งที่คนเรามีการคิดที่จะทำอะไร (หรือก็คือมีสติ) และความซับซ้อนดังกล่าวจะหายไปในกรณีที่คนไข้โดนวางยาสลบลึก
นักวิทยาศาสตร์บอกว่า นี่ถือเป็นการค้นพบที่สำคัญมากๆ ในวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์เลยก็ว่าได้ เพราะงานวิจัยชิ้นนี้จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในอนาคตเพื่อชี้ถึงระดับความมีสติของคนไข้ก่อนการรักษาและตัดสินใจต่างๆ ทางการแพทย์ได้เลย
ที่มา livescience, sciencealert และ Science Advances
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.