ในช่วงยุค 1990 ในพื้นที่ทะเลชวา ห่างออกไปจากเกาะสุมาตราในอินโดนีเซีย นักโบราณคดีได้ทำการเก็บกู้ซากเรือสินค้าโบราณอายุ 800 ปี ของชาวจีน พร้อมวัตถุโบราณมากกว่า 7,500 ชิ้น และนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในชิคาโก
ในเวลานั้นทุกคนสงสัยในที่มาของวัตถุโบราณที่พบบนเรือเป็นอย่างมาก เพราะแม้ว่าของเหล่านี้จะมีลักษณะที่บ่งบอกว่ามาจากทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนก็ตาม แต่เราไม่อาจทราบได้เลยว่าของเหล่านี้มาจากส่วนไหนของทางตะวันออกเฉียงใต้ที่กว้างใหญ่กันแน่
แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไปได้เกือบ 30 ปีในที่สุดนักวิทยาศาสตร์ก็สามารถหาวิธีมาตามรอยวัตถุโบราณเหล่านี้ได้สำเร็จ ด้วยการอาศัยเทคโนโลยี “ปืนเอกซเรย์” ในการเก็บข้อมูลจากเครื่องปั้นดินเผา 60 ชิ้นจากในบรรดาวัตถุโบราณที่พบ
โดยปืนเอกซเรย์ที่มีการนำมาใช้จะสามารถช่วยบอกได้ว่าเครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้มีส่วนประกอบมาจากอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นดินเหนียวที่ใช้ หรือสสารที่มีการผสมลงไปในระหว่างการผลิต
Wenpeng Xu หัวหน้าทีมวิจัยบอกว่าส่วนประกอบของเครื่องปั้นดินเผามันก็เหมือนกับลายนิ้วมือของมนุษย์ เพราะเครื่องปั้นดินเผาแต่ละชิ้นจะมีลักษณะดินเหนียวที่ไม่ซ้ำกัน
และหากนำข้อมูลที่ได้ไปเทียบกับข้อมูลวัตถุดิบในแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผามีชื่อทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน เราก็จะบอกได้ว่าเครื่องปั้นดินเผาที่พบมาจากที่ไหนกันแน่นั่นเอง
จากผลการวิเคราะห์นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่าเครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้มาจากสถานที่ที่หลากหลายมาก ซึ่งประกอบไปด้วยเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น เต๋อหัว ฉีมูหลิง หัวเจียชาน และหมินฉิงเมืองที่อยู่ใกล้ๆ กับท่าเรือฝูโจว
และจากการที่เครื่องปั้นดินเผาส่วนมากมาจากเมืองหมินฉิงนักโบราณคดีก็คาดกันว่าเรือลำนี้น่าจะออกเดินทางมาจากท่าเรือฝูโจว และไปรับสินค้าอื่นๆ เพิ่มจากที่เมืองเฉวียนโจวอีกที
การค้นพบในครั้งนี้ทำให้นักโบราณคดีทราบว่าพ่อค้าในสมัยก่อนมักจะมีการรับสินค้าจากโรงผลิตหลายที่เพื่อที่จะให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของตลาดค้าขายในสมัยก่อนได้เป็นอย่างดีนั่นเอง
ที่มา livescience, sciencedaily, dailymail
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.