ในวันที่ 24 มกราคมปี ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา สมาชิกคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และความมั่นคงของ จดหมายข่าวนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ (Bulletin of the Atomic Scientists) หรือ BAS ได้ทำการปรับ “Doomsday Clock” นาฬิกาวันสิ้นโลกเชิงสัญลักษณ์ ที่เปรียบกับการนับถอยหลังมหันตภัยทั่วโลกเข้าสู่ภาวะ “ใกล้เที่ยงคืน”
นี่นับเป็นการปรับนาฬิกาที่สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงขั้นสูงสุดตั้งแต่ที่เคยมีมาในช่วงสงครามเย็น และเตือนให้โลกเห็นว่าเราเข้าใกล้เข้าสู่การล่มสลายจากนิวเคลียร์มากถึงเพียงใด
ดังนั้นหลายๆ คนคงจะคิดกันว่าในเวลานี้ผู้คน (โดยเฉพาะเหล่าผู้นำประเทศ) น่าจะเข้าใจถึงอันตรายของสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันกันเป็นอย่างดีแล้ว
แต่แล้วในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั่วโลกก็ต้องรู้สึกกังวลอย่างหนักอีกครั้งเมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศฉีกสัญญาข้อตกลงนิวเคลียร์กับรัสเซีย ทั้งที่มีการออกมาปรับนาฬิกาวันสิ้นโลกได้เพียงไม่นาน
สัญญาข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ถูกประกาศว่าจะฉีกในครั้งนี้ เดิมทีแล้วเกิดขึ้นจากความพยายามในการยุติความกดดันเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ในสมัยสงครามเย็นของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีมีฮาอิล เซียร์เกเยวิช กอร์บาชอฟของรัสเซีย (ที่ในเวลานั้นยังเป็นโซเวียต)
โดยนี่เป็นสัญญาที่ระบุไว้ว่าทั้งสหรัฐฯ และโซเวียตจะต้องมีการหยุดผลิตหรือใช้งานอาวุธนิวเคลียร์ และขีปนาวุธที่มีระยะตั้งแต่ 500-5,500 กิโลเมตรทั้งหมด ซึ่งมีการลงนามกันมาตั้งแต่ วันที่ 8 ธันวาคม 1987
แน่นอนว่าเรื่องที่เกิดขึ้นได้รับการตอบรับโดยการฉีกสัญญากลับจากฝั่งรัสเซีย และกลายเป็นเหตุการณ์ที่สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักออกมาบอกว่าเป็นภัยต่อความปลอดภัยของโลก (โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป) เป็นอย่างมาก
จริงอยู่ที่ว่าการฉีกสัญญาในครั้งนี้ไม่จำเป็นที่จะหมายความว่าโลกต้องตกอยู่ในภาวะสงครามในเร็วๆ นี้
แต่การที่ทั้งสองประเทศมีการฉีกสัญญาห้ามผลิตและใช้งานอาวุธนิวเคลียร์ก็แทบจะเหมือนการบอกว่าหากมีสงครามเต็มรูปแบบเกิดขึ้น อาวุธที่มีการใช้งานจะต้องมีระเบิดนิวเคลียร์อยู่ด้วยอย่างแน่นอน
และไม่แน่เหมือนกันว่านี่จะเป็นไปเหมือนสัญญาณที่ว่านาฬิกาวันสิ้นโลกนั้น กำลังเดินไปยังเที่ยงคืนในทุกวินาทีแล้ว
ที่มา livescience, express, nytimes และ foxtrotalpha
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.