สโตนเฮนจ์ คือโบราณสถานที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เชื่อกันว่าถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 2,400-2,200 ปีก่อนคริสตกาล และเป็นสถานที่ที่เปี่ยมไปด้วยปริศนามากมายไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนในการสร้างขึ้นมา หรือใครกันที่เป็นผู้สร้างโบราณสถานแห่งนี้ขึ้น
แน่นอนว่าที่ผ่านๆ มาย่อมมีทฤษฎีมากมายที่พยายามออกมาอธิบายตัวตนของผู้ที่สร้างโบราณสถานแห่งนี้ขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีทฤษฎีไหนเลยที่มีความน่าจะเป็นมากพอที่จะทำให้นักโบราณคดีจำนวนมากปักใจเชื่อ
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา ในนิตยสาร “Proceedings of the National Academy of Sciences” ก็ได้มีการออกมานำเสนอทฤษฎีใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังสโตนเฮนจ์อีกครั้ง และได้รับความเชื่อถือจากนักโบราณคดีเป็นจำนวนมาก
นั่นเพราะจากการตรวจสอบแห่งโบราณสถานที่เป็นหินขนาดใหญ่หรือ “Megalith” กว่า 2,400 แห่งทั่วยุโรปของทีมนักโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัย Gothenburg ในสวีเดน พวกเขาก็พบว่าโบราณสถานในรูปแบบนี้นั้น เกิดขึ้นครั้งแรกในฝรั่งเศส ตั้งแต่เมื่อ 7,000 ปีก่อนเลยทีเดียว
โดยในระหว่างการตรวจสอบคาร์บอนกัมมันตรังสีในโบราณสถานทั่วยุโรป เหล่านักโบราณคดีก็พบว่าหลังจากโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดในฝรั่งเศสถูกสร้างราวๆ 400 ปี จู่ๆ โบราณสถานในรูปแบบนี้ก็เริ่มปรากฏขึ้นมาตามแทบชายฝั่งตะวันตกของฝรั่งเศส ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน คาบสมุทรไอบีเรีย และสถานที่อื่นๆ ในยุโรป
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว Bettina Schulz Paulsson หนึ่งในทีมนักโบราณคดีเจ้าของทฤษฎี จึงออกมาบอกว่า มีความเป็นไปได้สูงที่โบราณสถานรูปแบบที่เรียกว่า Megalith นั้น น่าจะมีต้นกำเนิดมาจากในฝรั่งเศส และเริ่มแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ผ่านการเดินทางทางทะเลอ้างอิงจากที่โบราณสถานสมัยแรกๆ มักสร้างไว้ริมทะเล
ดังนั้นโบราณสถานอย่างสโตนเฮนจ์ที่สร้างขึ้นมาเมื่อ 4,000 กว่าปีก่อนเอง ก็น่าจะถูกสร้างขึ้นจากนักเดินเรือเหล่านี้ หรือไม่ก็ผู้คนที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากคนเหล่านี้ในสมัยต่อมานั่นเอง
อย่างไรก็ตามแม้ว่าแนวคิดนี้จะได้รับความนิยมมากในหมู่นักโบราณคดีหลายกลุ่ม แต่ก็ไม่ใช่ว่านี่จะไม่ใช่ทฤษฎีที่มีคนออกมาโต้แย้งเลย เพราะยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่บอกว่าการตรวจสอบโบราณสถานโบราณที่นำมาอ้างอิงนั้น ควรจะทำในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่ยุโรปด้วย
เพราะไม่แน่ว่าโบราณสถานแบบ Megalith อาจจะเคยมีการสร้างมาก่อนโดยคนของพื้นที่อื่นๆ มาก่อนหน้าชาวยุโรปมากก็เป็นได้
ที่มา livescience, foxnews, pnas และ nypost
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.