ถ้าเพื่อนๆ ได้ติดตามข่าวความพยายามในการตัดต่อพันธุกรรมในเด็ก เพื่อสร้างเด็กที่มีความสามารถในการป้องกันโรค HIV เมื่อช่วงปลายปี 2018 เพื่อนๆ อาจจะทราบกันว่าการตัดยีนบางตัวออกไปจากร่างกายของมนุษย์นั้น สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อโรคหลายๆ ตัวได้
นั่นเพราะเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้เอง ทางทีมนักวิทยาศาสตร์ก็ได้ออกมานำเสนอรายงานชิ้นใหม่ที่ว่า การตัดยีน CCR5 ซึ่งเดิมทีเกี่ยวข้องกับโรค HIV ออกไปจากร่างกายมนุษย์ นอกจะทำให้ภูมิคุ้มกัน HIV ของคนดีขึ้นแล้ว (ตามการผลทดลองในปี 2018) มันยังช่วยให้เราหายจากอาการโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันได้ง่ายขึ้นด้วย
งานวิจัยในครั้งนี้นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากการทดลองให้ยา “Maraviroc” (ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วย HIV) ซึ่งมีผลในการหยุดการทำงานของยีน CCR5 กับหนู และพบว่าหนูนั้นมีความสามารถในการควบคุมร่างกายที่ดีขึ้น
จริงอยู่ที่ว่าการที่หนูควบคุมร่างกายได้ดีขึ้นก็ใช่ว่ามนุษย์เราจะมีอาการแบบเดียวกัน แต่จากการที่ปกติคนเป็นโรคหลอดเลือดสมองมักจะมีปัญหากับการควบคุมร่างกาย นักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่ายีน CCR5 นั้นอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดสมองก็เป็นได้
ดังนั้นพวกเขาจึงได้ทำการทดลองกับคนไข้ที่มีอาการหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน 450 คน โดยที่มีบางส่วนเป็นชาวยิวอัชเคนาซิ (ซึ่งไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลอะไรแต่คนเชื่อสายนี้กลับมักจะไม่มียีน CCR5) และพบว่าคนไข้ที่เป็นชาวยิวอัชเคนาซินั้นมีอัตราการฟื้นตัวจากโรคหลอดเลือดสมองเร็วกว่าคนทั่วไปจริงๆ
นั่นหมายความว่ามีความเป็นไปได้สูงที่หากคนเราไม่มียีน CCR5 แล้ว เราจะมีปัญหากับโรคหลอดเลือดสมองน้อยลงจริงๆ และไม่แน่ว่าการตัดยีนบางตัวของมนุษย์ออกไปอาจจะมีผลดีกว่าที่คิดก็เป็นได้
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ก็เป็นหนึ่งในชาวยิวอัชเคนาซิเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ดร. โธมัส คาร์ไมเคิล นายแพทย์ที่ให้ความร่วมมือกับการทดลองครั้งนี้ก็ได้ออกมาบอกว่าเรายังไม่ควรด่วนตัดสินคุณค่าของยีน CCR5 ในเวลานี้ เพราะเป็นไปได้ว่ายีนตัวนี้เองก็อาจจะมีประโยชน์ที่เราไม่ทราบมาก่อนก็ได้
นอกจากเรื่องความเกี่ยวข้องระหว่างยีน CCR5 กับโรคหลอดเลือดสมองแล้ว งานวิจัยในครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการใช้ยา Maraviroc ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอีกด้วย
และความเป็นไปได้นี้เองก็เป็นสิ่งที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ของการทดลองครั้งนี้ให้ความสนใจ และจะทำการทดลองขั้นที่สองต่อไปในอนาคตนั่นเอง
ที่มา livescience, cell และ bgr
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.