นักวิทย์อธิบาย ทำไมบางครั้งเรารู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็ว มันเกิดจาก “ช่องว่าง” ระหว่างความคิด

เคยสงสัยไหมว่าทำไม เวลาที่ได้ทำอะไรที่ชอบแล้วรู้สึกว่าเวลามันช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน และเวลาที่ต้องทำอะไรที่น่าเบื่อ หนึ่งนาทีมันกลับรู้สึกว่านานเป็นปีๆ

แน่นอนว่าหลายๆ คนอาจจะมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่าเป็นเรื่องราวของความรู้สึกของมนุษย์เฉยๆ ซึ่งแม้ว่ามันจะไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ในความจริงแล้วการที่มนุษย์รู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วเวลามีความสุขนั้นเป็นเรื่องที่มีการอธิบายในทางวิทยาศาสตร์มากกว่าที่เราคิด

 

 

อ้างอิงจาก Dr. Michael Shadlen นักประสาทวิทยาแห่งศูนย์การแพทย์เออร์วิงของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์กซิตี้ สมองคนเรานั้นจะมี “ช่องว่าง” ในระหว่างความคิดอยู่

เจ้าช่องว่างนี้ทำงานคล้ายกับการเว้นวรรคในหนังสือ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในทุกๆ ประโยชน์หรือทุกๆ ถ้อยคำที่มีการเขียนไว้ ในกรณีที่เรากำลังตั้งใจทำอะไรที่ชอบอยู่สมองจะมองช่องว่างดังกล่าวในภาพรวม คล้ายกับการอ่านหนังสือและหยุดในท้ายย่อหน้า ทำให้ทุกอย่างดูผ่านไปเร็วกว่าในความเป็นจริง

 

 

ในขณะเดียวกันหากเราทำในสิ่งที่ไม่ชอบสมองจะมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นจุดๆ ไป คล้ายการหยุดอ่านหนังสือในทุกๆ คำที่เขียนไว้ การกระทำเช่นนี้จะทำให้ในช่วงเวลาเท่าๆ กันสมองมีช่องว่างของความคิดมากกว่าเวลาทำสิ่งที่ชอบและทำให้ความรู้สึกด้านเวลาดูนานขึ้นตามไปด้วย

แต่นี่ไม่ใช่แค่เหตุผลเดียวที่เรารู้สึกว่าเวลายาวนานไม่เท่ากันในสถานการณ์ต่างๆ กัน เพราะนอกจากเรื่องช่องว่างระหว่างความคิดแล้ว สมองของเรายังใช้เวลาในการประมวลผลสิ่งที่เราควรจะทำแตกต่างกันไปในแต่ละเหตุการณ์ด้วย

 

 

หากเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยพบมาก่อน สมองจะใช้เวลาในการประมวลผลสถานการณ์นั้นๆ นาน ในขณะที่หากเราทำเรื่องอะไรซ้ำๆ ของเดิมสมองก็จะดึงข้อมูลมาจากประสบการณ์และไม่จำเป็นต้องประมวลผลใหม่ทำให้เวลาในการทำสิ่งเหล่านั้นดูไวกว่าที่เป็นจริงๆ

หากจะให้ยกตัวอย่างก็อย่างเช่นการที่เรานั่งรถนานๆ เราอาจจะบ่นในครั้งแรกๆ แต่หลังจากที่ต้องนั่งรถสายนี้ทุกวัน เราก็จะรู้สึกว่าเวลาที่เราใช้นั่งรถมันสั้นลง ทั้งๆ ที่รถก็วิ่งด้วยเวลาเท่าเดิม

 

 

นี่คือเหตุผลเดียวกับที่คนเรารู้สึกว่าเวลาผ่านไปไวขึ้นเรื่อยๆ ในตอนที่อายุมากขึ้น ผิดกับตอนเด็กๆ ที่เวลาแต่ละคนมีมันดูยาวนานและมีค่าสุดๆ เลยนั่นเอง

 

ที่มา livescience


Posted

in

by

Tags:

Comments

Leave a Reply