เพื่อนๆ เคยไปเที่ยวหลุมยักษ์สีน้ำเงิน (Great Blue Hole) แห่งประเทศเบลิซกันไหม มันเป็นหลุมลึกใต้น้ำรูปทรงกลมกลางทะเล ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่บรรดานักดำน้ำอยากไปกันมากที่สุด
ตั้งแต่ที่หลุมนี้เริ่มโด่งดังขึ้นมาในปี 1971 จากฝีมือของนักสำรวจและนักสร้างภาพยนตร์อย่าง Jacques Cousteau ก็มีผู้คนมากมายที่พยายามลงไปสำรวจที่ก้นบึ้งของหลุมที่โด่งดังหลุมนี้
โดยหนึ่งในคนเหล่านั้นก็คือ Fabien Cousteau หลานชายของผู้ซึ่งทำให้หลุมยักษ์แห่งนี้โด่งดังออกไปเป็นคนแรกเอง
และเมื่อล่าสุดนี้เอง Fabien และทีมสำรวจของเขา ได้ออกมาประกาศว่าการสำรวจหลุมยักษ์สีน้ำเงิน ที่พวกเขาทำการสำรวจมาเป็นเวลานานนั้นในที่สุดก็สำเร็จลงไปด้วยดีแล้ว
โดย Fabien กับทีมงานนั้นได้มีการใช้คลื่นโซนาร์ที่ติดกับเรือดำน้ำขนาดเล็กในการสร้างแผนที่สามมิติของหลุมยักษ์ที่มีความลึก 124 เมตร และกว้างถึง 318 เมตรในระดับที่ละเอียดที่สุดเท่าที่เคยมีการทำมา
แต่นั่นไม่ใช่การค้นพบเพียงอย่างเดียวของทีมงานกลุ่มนี้ เพราะนอกจากจะมีการสร้างแผนที่สามมิติของหลุมยักษ์สีน้ำเงินแล้ว ทีมนักดำน้ำของ Fabien เองยังพบกับแท่งแร่ชิ้นใหม่
รวมไปถึงซากหอย และปูเสฉวนที่ตายอยู่ใต้ทะเล
และที่สำคัญคือ “ขยะพลาสติก” อีกจำนวนหนึ่งด้วย
แท่งแร่ที่พบนี้มีรูปร่างคล้ายกับแท่งน้ำแข็งย้อย คาดว่าเกิดขึ้นมาในสมัยที่หลุมแห่งนี้ยังมีสภาพเป็นเพียงถ้ำและระดับน้ำยังต่ำกว่าในปัจจุบันราวๆ 150 เมตร ก่อนที่ตัวถ้ำจะถูกระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นท่วม และผุพังจนกลายเป็นหลุมอย่างทุกวันนี้
ส่วนซากปูเสฉวนที่ตายอยู่ใต้ทะเลนั้น คาดว่าเกิดจากการที่หอยถูกพัดตกลงไปในหลุม ซึ่งลึกมากจนหนีออกไปไม่ได้ และทำให้มันขาดออกซิเจนจนตายไปในที่สุด
ปัญหาที่ทีมงานของ Fabien ให้ความสำคัญมากที่สุดคือการที่พวกเขาเจอขวดพลาสติกในหลุมยักษ์แห่งนี้มากกว่า เพราะนั่นหมายความว่านักท่องเที่ยวที่มาเยือนหลุมนี้จะต้องมีการทิ้งขยะลงทะเลเป็นแน่
และขยะเหล่านี้เองที่เป็นศัตรูตัวสำคัญที่อาจจะทำลายสถานที่ท่องเที่ยวสุดงดงามนี้ต่อไป
ที่มา livescience และ dailymail
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.