นักโบราณคดีพบ “หวีสัก” อายุ 2,700 ปี ถูกลืมไว้ในห้องเก็บของ และทำจากกระดูกมนุษย์

หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ไม่นาน เหล่านักโบราณคดีได้มีการค้นพบอุปกรณ์สักที่ทำจากหนามต้นกระบองเพชร อายุมากถึง 2,000 ปี ที่ทวีปอเมริกาเหนือ (อ่านข่าวเก่าได้ที่ นักโบราณคดีพบ อุปกรณ์สักที่ทำจากหนามต้นกระบองเพชร คาดเก่าแก่ที่สุดในอเมริกาเหนือ)

แต่แล้วเมื่อล่าสุดนี้เองที่ประเทศออสเตรเลีย ทีมนักโบราณคดีในมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียก็ได้ทำการค้นพบอุปกรณ์สักอายุร่วม 2,700 ปีของชาวตองงา (ประเทศในแถบพอลินีเชีย ที่มหาสมุทรแปซิฟิก) อยู่ภายในห้องเก็บของของมหาวิทยาลัยเสียอย่างนั้น

 

 

จากคำบอกเล่าของทีมนักโบราณคดี อุปกรณ์สักที่พวกเขาพบนั้นมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 ชิ้น ซึ่งเชื่อกันว่าถูกนำมาเก็บไว้ที่มหาวิทยาลัยเพื่อรอการตรวจสอบตั้งแต่เมื่อปี 1963 และเป็นหนึ่งในโบราณวัตถุที่ทางมหาวิทยาลัยมีกำหนดการที่จะตรวจสอบตั้งแต่ปี 2016 ที่ผ่านมา

อุปกรณ์สักเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า “หวีสัก” (Tattoo combs) เนื่องจากส่วนปลายของอุปกรณ์จะมีตัวเข็มเป็นซี่ๆ คล้ายกับหวี ที่จะปักลงไปบนผิวหนังมนุษย์ และทำให้เกิดลวดลายของน้ำหมึก ซึ่งต่างจากเข็มสักอื่นๆ ในอดีต และใกล้เคียงกับเข็มสักบางรุ่นในปัจจุบันมากกว่า

จากการตรวจสอบหวีสัก นักโบราณคดีก็พบว่าหวีสักมีความเก่าแก่กว่าที่พวกเขาเคยคาดไว้มาก แถมครึ่งหนึ่งของอุปกรณ์สักที่พวกเขาพบยังทำจากวัสดุที่ค่อนข้างแปลกอย่างกระดูกของมนุษย์อีก

 

 

เป็นไปได้ว่าที่เป็นเช่นนี้ จะเป็นเพราะในช่วงแรกๆ ที่ผู้คนไปอยู่ที่ตองงา สัตว์บกนอกจากมนุษย์จะมีอยู่น้อยมากหรือไม่มีเลย ดังนั้นชาวตองงาจึงมักขุดกระดูกของผู้ที่จากไปมาใช้งานอย่างที่เห็น

สำหรับคนในเขตแปซิฟิกแล้วการสักนักว่าเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่สำคัญกับชีวิตมาก เพราะรากศัพท์ของคำว่า “Tattoos” ในภาษาอังกฤษเองก็มาจากภาษาพอลินีเชียที่ว่า “Tatau” เลย และสำหรับผู้ชายที่ตองงาเองคนที่ไม่มีรอยสักก็มักจะถูกเยาะเย้ยด้วย

 

 

และแม้ว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้จะไม่ได้เป็นอุปกรณ์สักที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยพบมาก็ตาม แต่เหล่านักโบราณคดีก็บอกว่าการศึกษาหวีสักที่พบนี้ ทำให้พวกเขาทราบว่าการสักแบบซับซ้อนนั้นมีมานานกว่าที่เขาคิดมาก

และไม่แน่เหมือนกันว่าการค้นพบนี้ อาจจะนำไปสู่ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการสักของคนในสมัยต่อไปในอนาคตก็เป็นได้

 

ที่มา livescienceinversetheconversation และ dailymail

Comments

Leave a Reply