งานวิจัยพบ “หวีวุ้น” สามารถสร้างทวารขึ้นมาเพื่อขับถ่าย และทำให้หายไปในยามที่ไม่ใช้

เพื่อนๆ รู้จัก “หวีวุ้น” (Comb Jelly) กันไหม หวีวุ้นเป็นหนึ่งในสัตว์ทะเลที่มีร่างกาย 95% เป็นน้ำ มีลักษณะคล้ายแมงกะพรุน (แต่จริงๆ แล้วมาจากคนละไฟลัมและไม่ได้มีความใกล้ชิดกันเลย) และเชื่อกันว่าเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตชนิดแรกๆ ที่เกิดมาบนโลกเลย

 

 

จริงอยู่ว่าหวีวุ้นนั้นอาจจะคล้ายแมงกะพรุนมากจนหลายๆ คนเข้าใจผิด แต่สิ่งมีชีวิตทั้งสองนี้ก็มีจุดที่แตกต่างกันมากๆ อยู่หนึ่งจุด นั่นคือในขณะที่แมงกะพรุนใช้ปากทั้งทานอาหารและขับถ่ายของเสีย (ระบบทางเดินอาหารไม่สมบูรณ์) หวีวุ้นนั้นมีทั้งปากและรูทวาร (ระบบทางเดินอาหารสมบูรณ์)

แต่เจ้าระบบทางเดินอาหารนี้เองที่ทำให้หวีวุ้นกลายเป็นสัตว์ที่แปลกกว่าสัตว์อื่นๆ ไป เพราะเจ้าสัตว์น้ำตัวนี้นั้นสามารถทำให้รูทวารปรากฏขึ้นหรือหายไปได้ตามที่ตัวเองต้องการเลย

 

 

โดยหลังจากที่หวีวุ้นกินอาหารเข้าไปมันจะเก็บของเสียจากการย่อยอาหารเอาไว้ในตัวไปเรื่อยๆ จนกระทั่งของเสียในตัวมันมากพอที่จะทำให้อวัยวะภายในสัมผัสกับผิวหนังชั้นนอก

ในเวลานั้นเองหวีวุ้นจะสร้างรูแบบชั่วคราวขึ้นมาบนผิวหนังซึ่งใช้ในการทำให้ของเสียไหลออกไปจากตัวคล้ายการขับถ่าย และปิดเจ้ารูที่ว่าในตอนที่การขับถ่ายจบลง

 

 

การขับถ่ายในรูปแบบนี้เองทำให้หวีวุ้นไม่จำเป็นต้องมีรูทวารอยู่ตลอดเวลาเหมือนสัตว์ชนิดอื่นๆ และแม้จะฟังดูยุ่งยากอยู่บ้างแต่ด้วยระยะห่างระหว่างเครื่องในกับผนังชั้นนอกที่ไม่มากก็ทำให้หวีวุ้นสามารถขับถ่ายได้บ่อยกว่าที่เราคิด

นักวิทยาศาสตร์ที่สังเกตการณ์เจ้าสัตว์ชนิดนี้บอกว่าระบบการขับถ่ายของหวีวุ้นนั้นแม้จะถูกเรียกว่าเป็นระบบทางเดินอาหารสมบูรณ์ แต่จริงๆ แล้วก็ยังมีความก้ำกึ่งกับระบบทางเดินอาหารไม่สมบูรณ์อยู่

 

 

เป็นไปได้ว่าเจ้าหวีวุ้นนั้นเป็นสัตว์ที่หยุดการวิวัฒนาการระบบขับถ่ายไว้กลางทางก่อนที่มันจะมีทวารถาวรแบบในปัจจุบัน

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงนักวิทยาศาสตร์ก็ชื่อว่าการศึกษาเจ้าสัตว์ชนิดนี้ อาจจะนำเราไปสู่ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับขั้นตอนการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่เราไม่เคยทราบมาก่อนเลยก็เป็นได้

 

ที่มา allthatsinterestingnewscientist และ livescience

Comments

Leave a Reply