เคยคิดกันไหม ว่ามันจะดีแค่ไหนถ้าคนเราสามารถเรียนหนังสือในยามหลับได้ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่คนเราจะใช้เครื่องมืออะไรสักอย่างในการอัดความรู้เข้าไปในสมองขณะที่เรานอนหลับ
คำตอบของคำถามนี้คือทั้งได้และไม่ได้ เพราะในขณะที่การเรียนรู้ในขณะหลับด้วยการฟังเสียงแบบที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในหนังหรือการ์ตูนจะแทบไม่มีโอกาสเป็นไปได้ สมองของเราก็ใช่ว่าจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรเลยในยามหลับเช่นกัน
ความพยายามในการคิดค้นวิธีการเรียนรู้ในตอนหลับนั้นอยู่คู่กับนักวิทยาศาสตร์มานานแสนนานแล้ว โดยเราสามารถพบงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ได้เรื่อยๆ ตามยุคสมัยและมีชิ้นที่เก่าแก่ที่สุดมาจากปี 1914 เลยทีเดียว
โดยในเวลานั้น นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน Rosa Heine พบว่าคนเราจะจำเรื่องที่เรียนรู้ก่อนนอนได้ดีกว่าเรื่องที่เรียนมาในตอนกลางวัน
แต่หากจะพูดถึงงานวิจัยที่เกี่ยวกับการอัดความรู้เข้าไปในหัวตอนหลับครั้งแรก เราคงต้องมองย้อนไปในปี 1930 ที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองเปิดคำพูดให้กำลังใจกับผู้เขารับการทดลองขณะหลับผ่านอุปกรณ์ที่ชื่อ “Psycho-phone”
ในเวลานั้นนักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาอ้างว่าคนเราสามารถเรียนรู้เรื่องราวจาก Psycho-phone ได้จริงๆ แต่ในอีกราวๆ 20 ปีต่อมาคำกล่าวอ้างเหล่านี้ก็โดนล้มล้างไปโดยนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มที่ทำการสแกนคลื่นสมองของคนในยามหลับ และพบว่าลักษณะของคลื่นสมองที่เกิดขึ้นเวลาเราเรียนรู้อะไร จะเกิดขึ้นได้ในยามที่คนเราตื่นอยู่เท่านั้น
งานวิจัยชิ้นนี้ทำลายความเป็นไปได้ของการเรียนรู้ยามหลับ ในเวลานั้นไปจนหมด และแทบจะไม่มีใครสามารถล้มล้างงานวิจัยชิ้นนี้ได้เลย จนกระทั่งโลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21
นั่นเพราะในปี 2012 นักวิทยาศาสตร์ในอิสราเอลก็พบความจริงที่น่าสนใจข้อหนึ่งของสมองเข้า เพราะแม้สมองของคนเราจะไม่สามารถ “เรียนรู้” สิ่งใหม่ๆ ในยามหลับ แต่หากมีการใช้วิธีที่ถูกต้องเราก็สามารถ “สร้างความทรงจำใหม่” ให้สมองในตอนที่หลับอยู่ได้
โดยนี่เป็นผลการทดลองที่เกิดขึ้นจากการเปิดเสียงรูปแบบหนึ่งพร้อมๆ กับกลิ่นเหม็นให้อาสาสมัครดมในยามหลับในช่วงเวลาหนึ่ง และพบว่าเมื่ออาสาสมัครตื่นพวกเขาจะกลั้นหายใจโดยไม่รู้ตัวทันทีที่ได้ยินเสียงรูปแบบเดียวกับในตอนหลับ เพราะสมองเชื่อว่าจะมีกลิ่นเหม็นตามมาในภายหลัง
แถมในปี 2014 เองนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งก็ยังพบด้วยว่าอาสาสมัครของพวกเขาสูบบุหรี่น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากมีการปล่อยกลิ่นบุหรี่ผสมปลาและไข่เน่าให้พวกเขาดมในยามหลับ
เท่านั้นไม่พอ ระบบการสร้างความทรงจำใหม่ที่ว่านี้ยังอาจสามารถนำมาประยุกต์ในการนำมาสอนภาษาได้อีกด้วย เพราะในปี 2017 เอง นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองเปิดคำที่คิดขึ้นมาเองคู่กับคำที่มีความหมายจริงๆ เช่น “กูก้า” กับ “ช้าง” ให้อาสาสมัครฟังในตอนหลับ และให้พวกเขาทำแบบทดสอบแปลภาษาที่เป็นแบบปรนัย
ผลที่ออกมาคือมีอาสาสมัครจำนวนมากที่คิดว่าคำว่ากูก้านั้นแปลว่าช้าง ทั้งที่คำคำนี้ไม่มีอยู่จริงและเป็นเพียงคำที่นักวิทยาศาสตร์คิดขึ้นมาเองเท่านั้น
นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ปัญหาของการเรียนรู้ในแบบนี้คือ เราไม่ทราบว่ามันคุ้มค่าจริงๆ หรือไม่ เพราะการสร้างความทรงจำในยามหลับนั้นมีผลน้อยมากถ้าเทียบกับการเรียนรู้ในยามที่เราตื่นจริงๆ แถมยังเป็นการรบกวนการนอนของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง (ซึ่งอาจส่งผลต่อการเรียนรู้ในเวลาตื่นด้วย)
ดังนั้นความฝันในการเรียนรู้ในยามหลับจึงยังคงเป็นเรื่องที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ยังคงต้องทำการวิจัยกันต่อไป และก่อนจะถึงวันนั้นก็ขอให้ทุกคนจำไว้ว่าการนอนหลับที่ดีนี่เอง ที่จะช่วยให้สมองเราเรียนรู้ได้ดีที่สุด
ที่มา livescience, nature
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.