ตั้งแต่ในอดีตมาเมื่อพูดถึงการปฏิบัติต่อคนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย คนส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่าคนในสมัยก่อนน่าจะมีการปฏิบัติตัวกับคนเหล่านี้แบบไม่ดีเท่าไหร่ เพราะคนที่ร่างกายสมบูรณ์เมื่อหลายพันปีก่อนคงจะไม่มานั่งดูแลคนเป็นโรคที่ตัวเองยังไม่รู้จักอย่าง “ภาวะแคระ” หรือ “ปากแหว่งเพดานโหว่” หรอก
ชาวสปาตัน หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าคนสมัยก่อนปฏิบัติตัวไม่ดีกับผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย
แต่แล้วเมื่อล่าสุดนี้เองในการประชุมเหล่านักโบราณคดีและนักวิทยาศาสตร์ที่กรุงเบอร์ลิน เหล่าผู้เชี่ยวชาญก็ได้เผยแนวคิดใหม่เกี่ยวกับวิถีชีวิตคนที่มีความบกพร่องทางร่างกายในสมัยก่อนออกมา
โดยทฤษฎีใหม่ของพวกเขาคือคนที่มีความบกพร่องทางร่างกายนั้น ในสมัยก่อนน่าจะได้รับการเคารพบูชาเป็นอย่างมาก หรืออย่างน้อยๆ ก็ได้ใช้ชีวิตโดยมีคนดูแลในระดับที่ดีกว่าคนธรรมดาทั่วไป
อักษรอียิปต์โบราณพร้อมภาพของเจ้าหน้าที่ศาลผู้มีภาวะแคระ ซึ่งพบในสุสานฟาโรห์เดนแห่งราชวงศ์ที่ 1
แนวคิดนี้มาจากการที่ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านๆ มานักโบราณคดีมักจะมีการขุดพบกระดูกของมนุษย์ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ในสถานที่สำคัญทางศาสนาอยู่เสมอ แถมยังมีร่องรอยการให้ชีวิตที่ดีไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ (หรือตอนเสียชีวิต) และไม่ได้ถูกขับไล่ออกจากเมืองอย่างที่เราเคยคิด
อย่างมัมมี่ที่มีร่องรอยของโรคลูคีเมีย จากเปรูในช่วง 1,200 ปีก่อนคริสตกาลเอง ก็ถูกฝังเอาไว้อย่างเคารพ ทั้งๆ ที่จากการตรวจสอบกระดูกแล้ว ชายคนนี้น่าจะเดินตรงๆ ไม่ได้ด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นหลักฐานอย่างดีว่าตลอดเวลาที่เขาใช้ชีวิตคนในสังคมค่อยดูแลเขาเป็นอย่างดีเลย
โดยหนึ่งในนักชีววิทยาโบราณ Anna Pieri ได้ออกมาบอกว่าเหล่าผู้มีความบกพร่องทางร่างกายนั้นไม่เพียงได้รับการดูแลอย่างดีเท่านั้น แต่ในหลายๆ ครั้งยังถูกเคารพบูชาด้วย โดยอ้างอิงจากการที่ผู้ปกครองในสมัยอียิปต์โบราณมักจะชอบรับคนที่มีภาวะแคระมาเป็นข้าราชบริพาร
และนอกจากภาวะแคระแล้ว ดูเหมือนว่าคนเป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่เองก็เป็นที่ยอมรับของคนในสมัยก่อนเช่นกัน
เพราะนักพยาธิวิทยาโบราณ จากมหาวิทยาลัยแซแกดอย่างคุณ Erika Molnar เองก็ได้รายงานว่า โครงกระดูกของชายผู้เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่รุนแรงที่มีชีวิตในช่วง 900 ปีก่อนคริสตกาลที่ฮังการี ก็ถูกฝังไว้พร้อมสมบัติมากมายเช่นกัน
ในสมัยก่อนนักโบราณคดีเคยคาดว่าที่เขารอดชีวิตมาได้จนโตทั้งๆ ที่ปากแหว่งเพดานโหว่ซึ่งยากต่อการดูดนมและทานอาหารน่าจะเป็นเพราะเขาเป็นชนชั้นสูง แต่หากมองจากแนวคิดที่ว่าคนโบราณเคารพผู้บกพร่องทางร่างกายแล้ว เป็นไปได้ว่าที่เขาได้เป็นชนชั้นสูงอาจจะเป็นเพราะโรคปากแหว่งเพดานโหว่เองก็ได้
นอกจากงานวิจัยในปี 2018 ของวิทยาลัยทรินิตี้ ในดับลินเองพวกเขาก็พบว่าชาวไอร์แลนด์สี่คนที่ถูกฝังอย่างดีในสถานที่ที่ต่างกัน ก็มีจุดร่วมเดียวกันตรงที่มีภาวะเหล็กเกิน (Haemochromatosis) ซึ่งนับว่าแปลกมากที่มีการพบคนที่ป่วยด้วยภาวะดังกล่าวเป็นจำนวนมากทั้งๆ ที่ภาวะนี้จัดว่าพบได้ค่อนข้างยากเลย
จริงอยู่ว่าในปัจจุบันเราอาจจะยังไม่อาจฟันธงได้ว่าคนในสมัยก่อนเคารพบูชาผู้บกพร่องทางร่างกายจริงๆ หรือไม่ แต่อย่างน้อยๆ เราก็มั่นใจได้ว่าคนในยุคนั้นไม่ได้ขับไล่ผู้บกพร่องทางร่างกายเสมอไปอย่างที่เราเคยคิดกันเป็นแน่ และทางนักเหล่านักวิทยาศาสตร์เองก็วางแผนที่จะทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ต่อไป
ที่มา allthatsinteresting และ sciencemag
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.