ตั้งแต่ปี 2018 ที่ผ่านมานี้ อุตสาหกรรมอาหารทั่วโลกมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เนื่องมาจากมีกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมทานอาหารที่มาจากพืชเท่านั้นหรือ “วีแกน” สูงขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบาธ ประเทศอังกฤษ ได้ทำการทดลองที่อาจฟังดูแปลกๆ ไปบ้าง นั่นคือการ “เพาะพันธุ์เซลล์ของสัตว์” ภายในห้องแล็บ ซึ่งจะได้เนื้อที่ไม่ได้เกิดจากการถูกฆ่าเพื่อการบริโภค…
เนื้อจากแล็บ (Lab-grown meat)
ไอเดียทั้งหมดในการทำเนื้อจากแล็บ คือการใช้หญ้าเป็นอาหารให้กับเซลล์ของสัตว์เหล่านี้เพื่อให้มันสามารถเจริญเติบโตได้และท้ายสุดมันจะกลายเป็นก้อนเนื้อโปรตีนล้วนๆ
และหากจะให้มีรสสัมผัสที่เหมือนเนื้อจริงมากกว่านี้ อาจเป็นไปได้ว่าในอนาคตนักวิทยาศาสตร์สามารถเพิ่มเซลล์ของไขมันสัตว์เข้าไปได้อีกด้วย
วิธีในการทำเนื้อสังเคราะห์จากแล็บ
ดอกเตอร์ Marianne Ellis วิศวกรด้านเคมีจากมหาวิทยาลัยบาธ เห็นว่าเนื้อจากแล็บนี้อาจกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการทานโปรตีนที่สามารถแจกจ่ายแก่คนทั่วโลกในสภาวะขาดแคลนได้
โดยที่มหาวิทยาลัยบาธทำการทดลองด้วยวิธีธรรมชาติทั้งหมดเพื่อให้ปลอดภัยมากที่สุด และเบื้องต้นพวกเขาเริ่มใช้เซลล์ของกลุ่มสัตว์ฟันแทะ (เช่น หนูและกระรอก) ก่อน เพราะราคาถูกกว่าและทำการวิจัยได้ง่ายกว่าหมูหรือวัว
หัวหน้าทีมในการทำวิจัย ดร. Marianne Ellis
ดร. Marianne Ellis กล่าวว่า…
“สิ่งที่เรากำลังทำในตอนนี้คือการออกแบบถังปฏิกรณ์ชีวภาพเพื่อให้เกิดกระบวนการทางชีวะ และสามารถผลิตเนื้อเหล่านี้ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ
เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว ในอนาคตเราจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านปศุสัตว์ และได้บริโภคเนื้อที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพ”
นอกจากนั้นแล้ว Richard Parr ผู้อำนวยการสถาบัน Good Food ในยุโรปกล่าวว่า ในอนาคต เนื้อจากแล็บนี้จะช่วยลดปริมาณของน้ำและที่ดินในการทำปศุสัตว์และเกษตรกรรมอย่างมาก
อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากซากพืชซากสัตว์ที่ถูกทิ้งจากโรงงานต่างๆ เพื่อช่วยลดโลกร้อนและแก้ปัญหาภาวะขาดแคลนอาหารได้อีกด้วย
ที่มา: bbc, scientificamerican
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.