เมื่อช่วงเดือนมกราคม ค.ศ. 2019 ในทางตะวันออกเฉียงใต้ของแหล่งโบราณคดี Pikillaqta ในประเทศเปรู ทีมนักโบราณคดีของประเทศได้ทำการค้นพบโบราณวัตถุจำนวนหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเครื่องบูชาของวัฒนธรรมวารี และมีอายุมากกว่า 900 ปี
การค้นพบในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่นักโบราณคดีขุดหลุมลงไปในแหล่งโบราณคดีราวๆ 70 เซนติเมตร โดยในตอนแรกพวกเขาได้พบกับ กระดูกอูฐที่ถูกเผา 2 ชิ้น เปลือกหอย Spondylus 8 ชิ้น แผ่นเงินขนาดเล็กสองอัน และแผ่นเงินประหลาดความยาวราวๆ 73 เซนติเมตร อีกหนึ่งแผ่น
อย่างไรก็ตามนักโบราณคดีสังเกตว่าแผ่นเงินที่พบนั้นราวกับว่าถูกใช้เพื่อแยกอะไรบางอย่างออกจากกันอยู่ดังนั้นพวกเขาจึงตัดสินใจขุดหลุมดังกล่าวลึกลงไปอีกเล็กน้อย
.
และที่นั่นเองพวกเขาก็พบกับหุ่นหล่อทองแดงขนาดเล็ก 6 ตัว หุ่นนักรบเสือพูม่า 2 ตัว รูปจำลองสัตว์เทพ 2 ตัว หุ่นหล่อเงินของนักรบหญิง 24 ตัว หุ่นรูปคนธรรมดา 3 ตัว และชิ้นส่วนหุ่นโบราณที่มีรูปร่างคล้ายร่างกายมนุษย์อย่างแขน ขา หัว อีกกว่า 107 ชิ้น
.
นี่นับเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่มากๆ สำหรับวงการโบราณคดีวัฒนธรรมวารีเลยก็ว่าได้ เพราะไม่เพียงแต่วัตถุโบราณที่พบจะมีจำนวนมากและมีความสมบูรณ์สูงเท่านั้น แต่การมีอยู่ของวัตถุโบราณเหล่านี้ก็ยังสามารถช่วยให้เราเห็นระดับของการค้าขายและการบูรณาการทางวัฒนธรรมของคนเปรูในสมัยก่อนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
อ้างอิงจากรายงานที่ออกมา วัฒนธรรมวารี (หรือ Huari ในภาษาสเปน) รุ่งเรืองมากๆ ในช่วงปี ค.ศ. 600-1000 ก็จริงอยู่ แต่กลับไม่ค่อยมีการบันทึกเรื่องราวเป็นรายลักษณ์อักษรเท่าไหร่ ดังนั้นเมืองนี้จึงมักถูกเข้าใจผิดอยู่บ่อยๆ ว่าเป็นวัฒนธรรมที่รวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางเป็นหลัก คล้ายๆ กับชาวอินคา
แต่ดูเหมือนว่าในความเป็นจริงแล้วชาววารีจะใช้ระบบกึ่งอาณานิคมอิสระ ที่ให้โอกาสพื้นที่ต่างๆ ในการปกครองตนเองในระดับหนึ่ง และใช้การค้าขายในการรักษาอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่น ส่งผลให้วัตถุโบราณที่พบนั้นมีความหลากหลายทางงานฝีมือมาก
ทีมนักโบราณคดีบอกว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้น่าจะถูกทิ้งร้างในช่วงปี ค.ศ. 1100 เนื่องจากเหตุไฟไหม้ และโดยคนในสมัยนั้นน่าจะทำการปิดผนึกสถานที่แห่งนี้เพื่อปกป้องมันจากการบุกรุกเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะจากไป
หลังจากการค้นพบถูกประกาศออกมาได้ไม่นาน Rogers Valencia รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของเปรูก็ได้ออกมากล่าวว่าวัตถุโบราณเหล่านี้จะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการของพิพิธภัณฑ์ Brüning เพื่อทำการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ก่อนที่จะนำกลับมาจัดแสดงให้สาธารณชนได้มีโอกาสได้เข้าชมต่อไป
ที่มา ancient-origins และ andina
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.