ชม “ทุ่งไหหิน” แหล่งโบราณคดีไหหินทรายของลาว ที่ยังไม่ทราบว่าสร้างขึ้นเพื่ออะไร

เพื่อนๆ เคยได้ยินเรื่อง “ทุ่งไหหิน” หรือ “Plain of Jars” กันมาก่อนไหม มันเป็นแหล่งโบราณคดีและแหล่งท่องเที่ยวที่มีความมหัศจรรย์และลึกลับที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตั้งอยู่ที่เชียงขวาง แขวงทางเหนือของประเทศลาวเพื่อนบ้านของเรา

 

 

ที่แห่งนี้เป็นแหล่งโบราณคดีประเภทหินขนาดใหญ่ (Megalith) ที่ประกอบไปด้วยหินรูปร่างคล้ายไหหลายร้อยอันที่มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ 2,000-3,000 ปี โดยส่วนมากแล้วจะทำจากหินทราย มีชิ้นที่ใหญ่ที่สุดสูงถึง 3 เมตร และน้ำหนักสูงสุด 15 ตัน

ทุ่งไหหินถูกบันทึกไว้ว่ามีการค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1930 โดยความร่วมมือระหว่าง นักโบราณคดีชาวลาวและชาวญี่ปุ่น พร้อมๆ กับวัตถุโบราณเกี่ยวกับพิธีกรรมที่น่าจะเป็นงานศพใกล้ๆ และโครงกระดูกมนุษย์ในไหบางลูก

 

 

เหตุผลที่แท้จริงที่คนในสมัยก่อนสร้างไหเหล่านี้ขึ้นมายังคงเป็นปริศนาแม้ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามอ้างอิงจากสิ่งที่พบพร้อมๆ กับไห เหล่านักโบราณคดีก็คาดว่าที่แห่งนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมหลังความตายของคนสมัยก่อนหรือไม่ก็ใช้เป็นที่เก็บน้ำฝน ในขณะที่ตำนานของทางลาวเองได้ระบุว่า ที่แห่งนี้นั้นเป็นที่เก็บสุราโบราณ ซึ่งกษัตริย์ในสมัยก่อนสั่งให้สร้างขึ้นหลังสามารถปราบยักษ์ที่เป็นศัตรูได้

 

 

ทุ่งไหหินในลาวนั้น ถูกแบ่งเป็นสามกลุ่มตามสถานที่ตั้งของมันโดยกลุ่มที่หนึ่งมีอยู่ประมาณ 200 ลูก และมีขนาดใหญ่กว่าในกลุ่มอื่นๆ ห่างจากเมืองโพนสวรรค์ประมาณ 7.5 กิโลเมตร กลุ่มที่สอง อยู่ห่างจากเมืองไปทางใต้ 25 กิโลเมตรมีไห 90 ลูก และกลุ่มที่สามอยู่ห่างจากกลุ่มที่สองไปทางใต้อีก 10 กิโลเมตร และมีอยู่ราวๆ 150 ลูก

น่าเสียดายที่ในปัจจุบันเราไม่สามารถเข้าชมทุ่งไหทั้งหมดได้ เนื่องจากทุ่งไหหินแห่งแรกนั้นเคยถูกใช้เป็นที่หลบระเบิดในช่วงสงครามอินโดจีนจนโบราณสถานได้รับความเสียหายจากระเบิด และว่ากันว่าพื้นที่บางส่วนยังมีระเบิดฝังเอาไว้ด้วย

 

 

ที่มา bbc, traveller, wikipedia และ atlasobscura

Comments

Leave a Reply