เป็นเรื่องที่หลายๆ คนอาจจะทราบกันว่าความสามารถในการออกเสียงที่ซับซ้อนของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่เราได้รับมาจากการวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานของมนุษย์ ว่าแต่เชื่อกันไม่ว่าเสียงบางเสียงที่เราใช้กันในปัจจุบันนั้น เป็นเสียงที่เราเพิ่งจะใช้กันได้เมื่อไม่กี่พันปีก่อนนี้เอง
นั่นเพราะอ้างอิงจากงานวิจัยใหม่ของมหาวิทยาลัยซูริค เหล่านักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาอ้างว่าเสียง /f/ และ /v/ ที่เราใช้กันในปัจจุบันนั้น ไม่ได้มาพร้อมกับการวิวัฒนาการของมนุษย์เมื่อ 300,000 ปีก่อนอย่างที่พวกเราเคยคิด แต่มาจากการทำการเกษตรเมื่อราวๆ 10,000-4,000 ปีก่อนเท่านั้น (แล้วแต่พื้นที่ของโลก)
โดยทางนักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายว่าในตอนที่มนุษย์เราเริ่มมีการทำการเกษตรนั้น บรรพบุรุษของเหล่ามีการเปลี่ยนอาหารหลักจากเนื้อสัตว์ไปเป็นผลิตภัณฑ์การเกษตรซึ่งมีความนุ่มมากกว่าอาหารในอดีตมาก
ความนุ่มนี้ทำให้ระบบฟันของคนเรานั้นมีความเปลี่ยนแปลงไป จากที่ฟันบนเคยอยู่ในระดับเสมอกับฟันล่าง คนในสมัยนั้นก็พัฒนาฟันบนที่ยืนไปข้างหน้ามากกว่าฟันล่างเล็กน้อยขึ้น หรือที่เรียกว่า “Overbite” และเจ้าฟันนี้เองที่เป็นกุญแจสำคัญของการออกเสียงในมนุษย์
ภาพการเปรียบเทียบฟันแบบเสมอกัน (ซ้าย) และฟันแบบ Overbite (ขวา)
นั่นเพราะเมื่อนักวิทยาศาสตร์ทดลองสร้างแบบจำลองของศีรษะมนุษย์ในคอมพิวเตอร์ดู พวกเขาก็พบว่าการที่คนเรามีฟันแบบ Overbite นั้น จะทำให้เราออกเสียงที่ต้องอาศัยริมฝีปากล่างและฟันบน หรือ “Labiodental” ได้ง่ายกว่าการมีฟันแบบเสมอกันถึง 29% เลย
การค้นพบนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าในสมัยก่อนเสียง /f/ และ /v/ น่าจะไม่เป็นที่นิยมหรือไม่มีการใช้งานเลยในสมัยก่อน และเพิ่งจะมามีการใช้งานในช่วงที่ฟันของเราเปลี่ยนแปลงไปแล้วเท่านั้น
อย่างไรก็ตามการวิวัฒนาการในครั้งนี้กลับไม่ได้มีแต่ข้อดีเท่านั้น เพราะมันทำให้ขากรรไกรล่างของเราสั้นลงกว่าในอดีตและส่งผลกระทบโดยตรงกับฟันคุดอย่างในปัจจุบันไปนั่นเอง
จริงอยู่ว่าในปัจจุบันงานวิจัยครั้งนี้ยังคงมีการถกเถียงกับในหมู่นักวิทยาศาสตร์ และยังต้องมีการวิจัยตรวจสอบกันต่อไปอยู่ แต่หากว่าเราพิสูจน์ได้ว่างานวิจัยนี้เป็นความจริง เราคงต้องขอบคุณการทำการเกษตรเลยที่ทำให้เรามีภาษาแบบในปัจจุบัน เพราะการออกเสียงแบบ Labiodental นั้น มีในภาษาอินโด-ยูโรเปียนกว่า 76% เลย
ที่มา sciencemag, gizmodo และ sciencealert
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.