ย้อนกลับไปเมื่อราวๆ 1,500 ปีก่อนเมือง Elusa (หรือ Haluza) หนึ่งในเมืองของจักรวรรดิไบแซนไทน์ได้เติบโตขึ้นจนถึงขีดสุด คนมีทั้งโรงละคร โรงอาบน้ำ แถมยังมีผู้คนอาศัยอยู่อย่างต่ำๆ ถึง 20,000 คน จนกลายเป็นหนึ่งในเมืองส่งออกสำคัญของสมัยนั้นไป
แต่แล้วหลังจากที่เมืองรุ่งเรืองอยู่ได้ราวๆ 1-2 ศตวรรษจู่ๆ เมือง Elusa ก็เกิดล่มสลายไปอย่างมีปริศนา ทิ้งเอาไว้เพียงซากเมืองที่ถูกทรายกลบหายไปตามกาลเวลาเท่านั้น
ที่ผ่านๆ มาเราคิดกันว่าการล่มสลายของเมืองแห่งนี้น่าจะมาจากการถูกกำหนดข้อจำกัดในการผลิตไวน์ซึ่งเป็นรายได้หลักของเมืองแห่งนี้
แต่แล้วล่าสุดนี้เอง เราก็พบกับความเป็นไปได้ใหม่ของสาเหตุที่ทำให้เมืองแห่งนี้ล่มสลายไปจนได้ เมื่อเหล่านักโบราณคดีได้ทำการตรวจสอบขยะที่เชื่อว่าถูกทิ้งโดยคนในเมือง Elusa ในอดีตและพบว่า เมืองแห่งนี้นั้นจริงๆ แล้วน่าจะล่มสลายไปจากเหตุผลอื่นมากกว่า
นั่นเพราะในที่ทิ้งขยะของเมือง Elusa นักโบราณคดีได้ทำการค้นพบถ่าน เมล็ดพืชต่างๆ และอาหารที่ถูกทิ้งไว้เป็นจำนวนมากซึ่งหากนำไปตรวจสอบอายุแล้วนักโบราณคดีก็ทราบว่าถูกนำมาทิ้งที่นี่ตลอดระยะเวลา 150 ปีหลังจากที่เมือง Elusa ถูกตั้งขึ้น และหายไปอย่างน่าประหลาดหลังจากนั้น
จากหลักฐานใหม่นี้ทำให้นักโบราณคดีทราบว่าเมือง Elusa นั้นน่าจะเริ่มล่มสลายไปช่วงกลางศตวรรษที่ 6 ซึ่งเป็นก่อนที่ชาวอิสลามจะเข้ามาควบคุมการปกครองในพื้นที่และตั้งข้อจำกัดในการผลิตไวน์เสียอีก
กลับกันในช่วงเวลาที่เมือง Elusa ล่มสลายไป นักวิทยาศาสตร์กลับพบว่าในพื้นที่ของจักรวรรดิไบแซนไทน์นั้น ยังมีปัญหาที่น่าสนใจอีกเรื่องแทน
เพราะในช่วงเวลานั้นได้เกิดเหตุอากาศเปลี่ยนแปลงที่รู้จักกันในชื่อยุคน้ำแข็งน้อยสมัยโบราณ (Late Antique Little Ice Age) ขึ้น พร้อมๆ กับการมาของโรคระบาดยุสตินิอานุส (เชื่อกันว่าเป็นกาฬโรค)
นั่นหมายความว่า แทนที่จะบอกว่าเมือง Elusa ล่มสลายไปเพราะข้อจำกัดในการผลิตไวน์ซึ่งเป็นรายได้หลัก ในปัจจุบันนักโบราณคดีก็ให้น้ำหนักไปยังความเป็นไปได้ที่ว่า เมืองนี้ล่มสลายไปจากโรคร้ายและความเปลี่ยนแปลงของภาวะอากาศมากกว่า
และข้อสันนิษฐานนี้เอง ก็คงจะเป็นไปไม่ได้เลย หากพวกเขาไม่พบกับที่ทิ้งขยะของเมือง ที่ดูเหมือนจะไร้ค่าแห่งนี้
ที่มา livescience และ nationalgeographic
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.