นักวิจัยเกาหลีเตือน ไวรัสไข้วัดใหญ่ในสุนัข อาจติดต่อข้ามสายพันธุ์มายังมนุษย์ได้

เป็นที่ทราบกันว่าโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นในสัตว์นั้นในบางครั้งก็จะสามารถเกิดการติดต่อข้ามสายพันธุ์มายังมนุษย์ได้ ดังนั้นที่ผ่านๆ มาหากมีโรคภัยไข้เจ็บระบาดรุนแรงในหมู่สัตว์ใกล้ตัวคนเราปล่อยครั้งก็จะมีการออกมาประกาศเตือนภัยโดยเหล่าแพทย์อยู่เสมอ

และแล้วเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. 2019 นี่เองเราก็ได้เห็นการออกมาเตือนภัยในรูปแบบดังกล่าวอีกครั้ง เมื่อเหล่านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกาหลีในประเทศเกาหลีใต้ได้ออกมาประกาศผลการวิจัยใหม่ที่ว่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่บางชนิดในสุนัขนั้นอาจมีความสามารถติดต่อข้ามสายพันธุ์มายังคนก็เป็นได้

 

 

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยที่กินเวลากว่า 10 ปี ซึ่งต่อยอดจากงานวิจัยในอดีต ที่ว่าไวรัสไข้หวัดหมู (H1N1/2009) และไวรัสไข้หวัดนก (H3N2) สามารถติดต่อไปยังสุนัขได้

แต่ในงานวิจัยล่าสุดนี้เองทางมหาวิทยาลัยเกาหลีได้พบว่าไวรัสไข้หวัดหมู และไข้หวัดนกนั้นไม่เพียงแต่ติดต่อไปยังสุนัขได้เท่านั้น แต่มันยังสามารถ “ผสมกัน” ในสุนัขจนเกิดเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ด้วย

 

ไวรัส H1N1 ที่มีประวัติเคยระบาดในหมูและสุนัขมาแล้ว

 

โดยไวรัสตัวใหม่นี้ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 2012 และถูกเรียกโดยเหล่านักวิทยาศาสตร์ว่า “CIVmv” ซึ่งแม้ว่าในตอนแรกที่ออกมาไวรัสตัวนี้จะดูไม่มีผลกระทบกับคนเป็นพิเศษ แต่เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่ามันมีโอกาสที่จะติดต่อมายังมนุษย์ได้ด้วย

ข้อสรุปนี้ เกิดจากการที่นักวิทยาศาสตร์พบว่าไวรัสตัวนี้สามารถติดต่อจากสุนัขไปยังตัวเฟอเรทที่มีระบบตัวรับกรดซิลิก (ซึ่งไวรัสจะใช้ในการผูกตัวกับเซลล์) คล้ายมนุษย์ ได้มีการติดไวรัส CIVmv ไปแล้ว แถมยังเกิดขึ้นเร็วมากๆ เมื่อเทียบกับการติดต่อข้ามสายพันธุ์ของไวรัสอื่นๆ ที่ผ่านมาด้วย

เมื่อติดไวรัสตัวนี้แล้วสุนัขและเฟอเรทจะมีปัญหากับระบบทางเดินหายใจ มีอาการ ไอ น้ำตาไหล จาม อ่อนเพลียและความอยากอาหารลดลง ซึ่งเป็นอาการโดยพื้นฐานของไข้หวัดใหญ่ในสุนัข

 

ตัวรับกรดซิลิก (Sialic Acid Receptors) หากจะให้เทียบก็เหมือนแขนที่จะจับกรดซิลิก

ซึ่งไวรัสจะอาศัยแขนที่ว่านี้เองในการผูกตัวกับเซลล์

 

ด้วยความที่สุนัขเป็นสัตว์ที่อยู่ใกล้ชิดกับคน เหล่านักวิทยาศาสตร์จึงได้เป็นกังวลเป็นอย่างมากกับไวรัสชนิดใหม่นี้ ดังนั้นในปัจจุบันพวกเขาได้พยายามพัฒนาวัคซีนขึ้นมาเพื่อรับเมื่อกับไวรัส CIVmv เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยพวกเขาหวังว่าจะสามารถพัฒนาวัคซีนนี้ได้สำเร็จก่อนที่จะมีข่าวไวรัส CIVmv ติดต่อไปยังมนุษย์ได้จริงๆ แม้ว่าการทำวัคซีนไวรัสตัวนี้จะทำได้ยากเพราะโครงสร้างที่เกิดจากการรวมตัวของเชื้อก็ตาม

 

 

และงานวิจัยชิ้นนี้เองก็จะถูกนำเสนอในการประชุมสมาคมจุลชีววิทยาโลกประจำปี 2019 ซึ่งจะมีการจัดขึ้นในไอร์แลนด์เหนือ เมื่อเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ต่อไป

 

ที่มา dailystar, labnews, healtheuropa และ dailymail

Comments

Leave a Reply