ไม่ว่าเราจะเป็นใครมาจากไหนในอดีตเราก็ต้องเคยผ่านช่วงเวลาที่สมองของเรายังคงเด็กมากจนพูดได้แค่เสียงที่ไม่มีความหมายอย่าง “อ้อแอ้ๆ” ก็เท่านั้น นี่เป็นช่วงเวลาที่คนส่วนมากจะได้เริ่มเรียนรู้ภาษาแม่ของตัวเอง แม้ว่าสำหรับหลายๆ คนแล้วช่วงเวลานี้คงจะไม่เหลืออยู่ในความทรงจำอีกต่อไป
แต่เชื่อหรือไม่ว่าจากงานวิจัยใหม่ล่าสุดที่มีการตีพิมพ์ออกมาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 2019 นักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาเปิดเผยว่าการเรียนรู้ภาษาแม่ (ในที่นี้คือภาษาอังกฤษ) ซึ่งหลายๆ คนมองว่าเป็นเรื่องยากนั้น ตั้งแต่ตอนเกิดไปจนถึงอายุ 18 ปีจะกินพื้นที่ของสมองเราไปแค่ราวๆ 1.5 เมกะไบต์ หรือเท่าๆ กับแผ่นฟลอปปีดิสก์หนึ่งแผ่นเท่านั้น
อ้างอิงจากข้อมูลในงานวิจัย หน่วยวัดปริมาณแบบ “ไบต์” ที่ถูกใช้เปรียบเทียบในครั้งนี้จริงๆ แล้วเป็นรูปแบบการเก็บข้อมูลด้วยตัวเลขฐานสองของคอมพิวเตอร์ ซึ่งต่างไปจากรูปแบบการเก็บข้อมูลที่สมองมนุษย์ใช้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย
เพราะในอดีตเองก็เคยมีงานวิจัยออกมาบอกแล้วว่าในชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งสมองจะเก็บข้อมูลได้ถึงมากที่สุดถึงราวๆ 25 เพตาไบต์ (ประมาณ 25 ล้านกิกะไบต์) ดังนั้นเราจึงสามารถเปรียบเทียบได้ว่าภาษาที่เรารู้สึกกันว่าเรียนรู้กันยากเหลือเกินนั้น จริงๆ แล้วจึงใช้พื้นที่ในการเก็บในสมองของเราน้อยกว่าไฟล์เพลง Mp3 บางเพลงด้วยซ้ำ
ทีมนักวิทยาศาสตร์บอกว่าในวันหนึ่งคนเราจะสามารถจดจำภาษาแม่ได้มากที่สุดราวๆ 1,000-2,000 ไบต์ และในกรณีที่เลวร้ายที่สุดเราจะจดจำภาษาได้ที่ราวๆ 120 ไบต์ต่อวัน
ที่น่าสนใจคือภายใน 1.5 เมกะไบต์ ที่สมองเราใช้ในการจดจำภาษานั้น โดยมากแล้วจะไม่ได้ใช้ในการจดจำไวยากรณ์อย่างที่เราคิด แต่เป็นความหมายของคำแต่ละคำต่างหาก
ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากมนุษย์เราใช้ระบบการเรียนรู้คำที่ความหมาย ซึ่งต่างไปจากคอมพิวเตอร์ เพราะแม้ว่าคำหนึ่งคำมีวิธีเรียกที่แตกต่างกันในแต่ละภาษา (อย่าง “สุนัข” และ “Dog”) แต่ในท้ายที่สุดสมองของเราก็จะให้ความหมายของคำเป็นสิ่งสิ่งเดียวกันอยู่ดี
ดังนั้นต่อให้จะมีคนที่เกิดมาพูดได้สองภาษาก็ตาม ทีมนักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่าคนเหล่านั้นไม่ได้ใช้พื้นที่เก็บข้อมูลมากกว่าคนทั่วไปสองเท่าอย่างแน่นอน
ที่มา livescience, futurity, sciencedaily
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.