ย้อนรอยที่มาของ “April Fools’ Day” เทศกาลแห่งการโกหก ที่จัดขึ้นทุกๆ 1 เมษายน

วันที่ 1 เมษายน สำหรับหลายๆ คนแล้วคงเป็นวันที่ต้องระวังตัวในการรับข่าวสารมากกว่าปกติมากเลยทีเดียว เพราะนี่เป็นวันที่มีคนจำนวนมากออกมาทำการโกหกกันอย่างสนุกสนานกันทั่วโลกเลย ดังนั้นเชื่อว่าเพื่อนๆ คงจะเคยสงสัยกันบ้างล่ะว่าเจ้าวันโกหกนี้แท้จริงแล้วมันมีที่มาอย่างไรกัน

 

 

วันแห่งการโกหกหรือ April Fools’ Day และ All Fools’ Day นั้น เป็นวันที่มีการเฉลิมฉลองกันในหลายๆ วัฒนธรรมทั่วโลกมาตั้งแต่ในสมัยก่อนและเก่าแก่มากพอที่จะทำให้หลักฐานที่มาของมันหายไปตามกาลเวลาได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ตามนักโบราณคดีหลายๆ รายก็ตั้งข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจว่า วันแห่งการโกหกนั้นเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นแถวๆ ปี 1582 ในตอนที่ประเทศฝรั่งเศสเปลี่ยนปฏิทินประจำประเทศจาก “ปฏิทินจูเลียน” ไปเป็น “ปฏิทินเกรโกเรียน”

 

จูเลียส ซีซาร์ (ซ้าย) และสมเด็จพระสันตะปาปาเกรโกรีที่ 13 (ขวา) บุคคลที่ถูกนำชื่อไปตั้งเป็นชื่อปฏิทิน

 

การเปลี่ยนแปลงปฏิทินนี้ส่งผลกระทบหลายอย่างกับสังคมฝรั่งเศส โดยหนึ่งในเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญคือการเปลี่ยนวันปีใหม่จากช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงวันที่ 1 เมษายน ไปเป็นวันที่ 1 มกราคมอย่างในปัจจุบัน

แน่นอนว่าในปีแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงย่อมมีกลุ่มคนที่ไม่ทันข่าวกันอยู่บ้างและยังคงฉลองปีใหม่ตามปฏิทินแบบเก่าอยู่ และคนเหล่านี้เองก็จะกลายเป็นตัวตลกที่ถูกล้อเลียน จนเป็นที่มาของงานเมษาหน้าโง่ไป

 

 

แต่จากเปลี่ยนวันปีใหม่นี้ก็ใช่ว่าจะเป็นทฤษฎีเดียวที่มีการคิดออกมาเพื่ออธิบายการมีอยู่ของวันแห่งการโกหกแต่อย่างใด

เพราะยังมีนักโบราณคดีอีกหลายคนที่คาดกันว่า วันแห่งการโกหกอาจจะมีที่มาจาก เทศกาลฮิลาเรียในสมัยโรมันโบราณก็เป็นได้ โดยเทศกาลนี้จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมและเกี่ยวข้องกับการให้ผู้คนออกมาแต่งกายแปลกๆ และเล่นตลกกัน

 

 

นอกจากนี้วันแห่งการโกหกก็อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับ “วันวสันตวิษุวัต” หรือวันแรกของฤดูใบไม้ผลิในประเทศทางซีกโลกเหนือด้วยก็เป็นได้ เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่อากาศจะเปลี่ยนแปลงไปแบบยากที่จะคาดการ คล้ายกับการที่ธรรมดาโกหกหลอกลวงมนุษย์

ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนเราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวันที่ 1 เมษายนนั้นเป็นวันที่มีความพิเศษอย่างไม่ธรรมดามาตั้งแต่ในสมัยก่อน และการที่เราไม่ทราบที่มาที่แท้จริงของเทศกาลนี้เองก็อาจจะเป็นอะไรที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ความลึกลับหลอกลวงของวันแห่งการโกหกได้เป็นอย่างดีเลยด้วย

 

 

ที่มา history, และ infoplease

Comments

Leave a Reply