เชื่อว่าคงมีเพื่อนๆ หลายคนไม่น้อยที่รู้จัก นักดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ชาวอเมริกันอย่าง ซอนนี จอห์น มัวร์ หรือ “สกริลเลกซ์” เพราะเพลงของเขาอย่าง “Scary Monsters And Nice Sprites” นั้นในปัจจุบันมีผู้เข้าชมไปเป็นจำนวนมากถึง 300 ล้านวิวแล้ว แถมยังมีท่าทีที่จะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ แม้เพลงจะออกมาตั้งแต่ปี 2010 แล้วก็ตาม
ว่าแต่ทราบกันหรือไม่ว่า อ้างอิงจากงานวิจัยใหม่ล่าสุดแล้ว เจ้าเพลงดับสเต็บเพลงนี้ ไม่เพียงแต่จะถูกใจคนนับล้านเท่านั้น แต่มันยังสามารถทำให้ยุงกัดและผสมพันธุ์น้อยลงกว่าปกติอีกด้วย!!
โดยงานวิจัยที่ราวกับเป็นข่าววันเอพริลฟูลส์เดย์ชิ้นนี้ ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Acta Tropica เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา และเกี่ยวข้องกับการศึกษาผลกระทบของเสียงเพลงที่ดังต่อพฤติกรรมของยุง โดยเฉพาะการดูดเลือดและการผสมพันธุ์
การทดลองครั้งนี้จัดทำขึ้นโดยการเปรียบเทียบพฤติกรรมของยุงตัวเมียสองกลุ่มที่อดอาหารมาเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ต่อหนูแฮมสเตอร์ที่ถูกมัดไว้ (ให้เป็นอาหาร) และยุงตัวผู้หนึ่งตัวในกรง ซึ่งยุงกลุ่มหนึ่งนั้นจะต้องฟังเพลง Scary Monsters and Nice Sprites ซ้ำไปซ้ำมา
ดูเหมือนว่าที่นักวิทยาศาสตร์เลือกเพลงนี้มาใช้จะเป็นเพราะเพลง Scary Monsters and Nice Sprites มีระดับเสียง (Pitch) ที่เพิ่มขึ้นอย่างเสมอต้นเสมอปลายดังนั้นจึงเหมาะแก่การนำมาทดลองเป็นอย่างยิ่ง
เพลง Scary Monsters and Nice Sprites ที่ถูกใช้ในการทดลอง
โดยในการทดลอง นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่ายุงที่ฟังเพลงของสกริลเลกซ์นั้นจะไม่หาอาหารเลยเป็นเวลาถึง 2-3 นาที หลังจากที่ปล่อยเข้าไปหาแฮมสเตอร์ ซึ่งนับว่านานกว่ายุงที่ไม่ได้ฟังเพลง ซึ่งพุ่งเข้าไปหาหนูแฮมสเตอร์ในเวลาเพียง 30 วินาที แถมยุงที่ฟังเพลงยังกัดหนูยังน้อยกว่ายุงที่ไม่ได้ฟังเพลงอย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย
เท่านั้นยังไม่พอเมื่อลองปล่อยยุงที่ฟังเพลงไปหาตัวผู้ พวกมันยังผสมพันธุ์น้อยกว่ายุงที่ไม่ได้ฟังเพลงอีกถึง 5 เท่า แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าการสั่นของอากาศอย่างรุนแรงที่มาพร้อมกับเพลงอย่าง Scary Monsters and Nice Sprites ทำให้ยุงสับสนได้จริงๆ
โดยนักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าตามปกติยุงทั้งตัวผู้และตัวเมียจะมีเสียงในการบินของตัวเอง และในการจะผสมพันธุ์ให้สำเร็จ ยุงตัวผู้ก็มักจะต้องปรับเสียงการบินให้เข้ากับตัวเมียด้วย ดังนั้นการที่โดนเสียงดังรบกวนจึงทำให้พวกมันไม่สามารถผสมพันธุ์ได้อย่างที่ควรเป็น
จริงอยู่ว่างานวิจัยนี้อาจจะเป็นงานวิจัยที่ดูแปลกอยู่บ้าง แต่มันก็ไม่ใช่งานวิจัยชิ้นแรกที่พบว่าเสียงดังส่งผลต่อการใช้ชีวิตของแมลงแต่อย่างไร
เพราะในปี 2018 เองก็เคยมีการทดลองที่ใกล้เคียงกันกับการทดลองนี้เกิดขึ้นเช่นกัน แต่เป็นการทดลองกับแมลงเต่าทอง และใช้เพลง Back in Black ของ AC/DC ที่เป็นเพลงร็อก
เพลง Back in Black ของ AC/DC ที่มีการใช้ทดลองในปี 2018
ที่สำคัญคือในการทดลองทุกครั้ง แมลงจะมีอาการฟุ้งซ่านมากเกินกว่าที่จะทานอาหารได้ตามปกติ เหมือนกับการทดลองในปัจจุบันเลยด้วย ดังนั้นเราคงพูดได้เต็มปากเลยว่าเพลงนั้นมีประโยชน์มากกว่าที่เราคิดจริงๆ (ถึงในงานวิจัยปี 2018 จะบอกว่าเป็นมลภาวะทางเสียงก็ตาม)
ที่มา livescience, bbc, geek
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.