สุริยุปราคา หรือ สุริยคราส สำหรับหลายๆ คนแล้วคงจะเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นกันทุกวันและมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยสำหรับบนโลกแล้ว นี่คือปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ เคลื่อนตัวมาบดบังพระอาทิตย์ ซึ่งในปีปีหนึ่งจะเกิดขึ้นได้ไม่เกิน 5 ครั้งเท่านั้น
สุริยุปราคาเต็มดวงบนโลกเมื่อปี 1999
แต่ทราบกันหรือไม่ว่าเหตุการณ์อย่างสุริยุปราคานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่บนโลกเท่านั้น เพราะเมื่อช่วงเดือนมีนาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมานี้เอง ยาน Curiosity ของนาซาก็ได้มีโอกาสได้พบกับสุริยุปราคาบนดาวอังคารเช่นกัน แถมในเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งเดือนบนดาวอังคารก็เกิดสุริยุปราคาขึ้นถึง 3 ครั้งแล้วด้วย
โดยภาพของสุริยุปราคาบนดาวอังคารที่ยาน Curiosity ถ่ายกลับมาได้เป็นครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม โดยเป็นการที่ดวงจันทร์ของดาวอังคารชื่อ Deimos โคจรผ่านดวงอาทิตย์พอดี ซึ่งแม้ว่าขนาดดวงจันทร์จะเล็กมากๆ จนบอกว่าเป็นสุริยุปราคาได้ไม่เต็มปากแต่ก็เป็นภาพที่น่าสนใจพอสมควรเลย
ภาพ “สุริยุปราคา” ของดวงจันทร์ Deimos (ความเร็ว x10)
อย่างไรก็ตามภาพที่น่าสนใจของสุริยุปราคาที่ยาน Curiosity ถ่ายได้นั้นเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 25 มีนาคมต่างหาก เพราะในขณะที่ยาน Curiosity สำรวจดาวอังคารอยู่มันก็พบกับเงาที่เคลื่อนผ่านท้องฟ้าไปซึ่งเป็นหลักฐานอย่างดีว่ามีการเกิดสุริยุปราคาขึ้น และมนุษย์ก็พลาดที่จะถ่ายภาพสิ่งที่เกิดขึ้นไปเสียแล้ว
ภาพเงาของสุริยุปราคาในวันที่ 25 มีนาคม 2019
เมื่อเห็นดังนั้นทางนาซาจึงได้มีการปรับแต่งกล้องของยาน Curiosity เล็กน้อยเพื่อให้มันสามารถจับภาพดวงอาทิตย์ได้ดีกว่าเดิม เผื่อการเกิดสุริยุปราคาครั้งหน้าพวกเขาจะได้ภาพที่คมชัดยิ่งกว่าในปัจจุบัน
และก็นับว่าเป็นโชคดีของทางนาซามากที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องรอสุริยุปราคานานเลย เพราะในวันต่อมา (26 มีนาคม) ยาน Curiosity ก็พบกับสุริยุปราคาบนดาวอังคารอีกครั้ง แถมในครั้งนี้มันยังสามารถเก็บภาพไว้ได้แบบชัดเจนเลยด้วย
ภาพสุริยุปราคาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม (ความเร็ว x10) คราวนี้เป็นดวงจันทร์ Phobos
แตกต่างไปจากดวงจันทร์ของโลกที่เชื่อกันว่าเกิดจากการปะทะครั้งใหญ่เมื่อ 4,500 ล้านปีก่อน ดวงจันทร์ของดาวอังคารนั้น เป็นดาวเคราะห์น้อยที่ถูกดึงเข้ามาหาดาวอังคารเพราะแรงดึงดูด และไม่ได้มีขนาดและระยะห่างที่มากพอที่จะทำให้ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์จนมิดได้
ถึงอย่างนั้นก็ตามสุริยุปราคาบนดาวอังคารก็มีเสน่ห์ในอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจากบนโลกจริงๆ
ที่มา livescience และ nasa
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.