เป็นเรื่องที่หลายๆ คนคงจะทราบกันว่าในธรรมชาติของโลกนั้น ไม่ได้มีแต่สิ่งมีชีวิตที่น่ารักเสมอไป เพราะในหลายๆ สถานที่ (อย่างเช่นแหล่งน้ำ) เราก็จะสามารถพบสิ่งมีชีวิตที่มีหน้าตาสุดประหลาด ที่มีวิธีล่าเหยื่อราวกับหลุดมาจากหนังอย่างเอเลี่ยน หรือ พรีเดเตอร์ได้เหมือนกัน
เพราะเมื่อล่าสุดนี้เองทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการสังเกตการตัวอ่อนของ “ยุงยักษ์” (Chaoborus) แมลงที่แม้ว่าจะมีชื่อภาษาไทยว่ายุงแต่จริงๆ แล้วเป็นแมลงวันพันธุ์หนึ่ง พวกเขาก็พบว่าเจ้าตัวอ่อนเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะมีจุดเด่นที่ร่างกายโปร่งใสราวแก้วเท่านั้น แต่มันยังมีวิธีการ “อ้าปาก” ที่แปลกสุดๆ เลยด้วย
อ้างอิงจากวิดีโอความเร็วสูงและการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือ “ซีทีสแกน” นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่าตัวอ่อนของยุงยักษ์นั้นมีส่วนปากที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายปล้องประกอบกันซึ่งสามารถกางออกกว้างกว่าส่วนหัวของตัวมันเพื่อจับเหยื่อ ก่อนที่จะ “เคี้ยว” เหยื่อทั้งเป็นและส่งเข้าหลอดอาหารโดยตรง
ความเร็วในการกินเหยื่อตั้งแต่เริ่มจนจบของตัวอ่อนยุงยักษ์สายพันธุ์นี้กินเวลาเพียงแค่ 14 มิลลิวินาที (0.014 วินาที) เท่านั้น เร็วกว่าที่คนเราจะมองเห็นด้วยวิธีการตามธรรมชาติมาก ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงต้องทำการสร้างโมเดลสามมิติขึ้นมาเพื่ออธิบายการทำงานของปากตัวอ่อนยุงยักษ์เลย
การโจมตีของตัวอ่อนยุงยักษ์นั้น เร็วกว่าการโจมตีการโจมตีของตั๊กแตนตำข้าวซึ่งใช้เวลา 42 มิลลิวินาทีเสียอีก แม้ว่าจะยังเป็นรองกั้งซึ่งใช้เวลา 4-8 มิลลิวินาที และ แมงมุมสายพันธุ์ Chilarchaea quellon ที่ใช้เวลาโจมตีน้อยกว่า 1 มิลลิวินาทีก็ตาม
แต่แม้ว่าตัวอ่อนยุงยักษ์จะมีการอ้าปากแบบพิเศษและความเร็วในการล่าเหยื่อที่สูงแค่ไหนก็ตาม มีนก็ใช่ว่าจะสามารถจับเหยื่อได้เสมอไป เพราะแม้ว่ามันมีโอกาสจับไรน้ำได้ถึง 80% หากเหยื่อไม่รู้ตัวก็ตาม แต่หากไรน้ำรู้ตัวว่าจะถูกโจมตีแล้ว โอกาสที่ตัวอ่อนแมลงวันจะจับไรน้ำได้สำเร็จจะลดลงไปเหลือเพียงแค่ 50% เท่านั้น
การค้นพบในครั้งนี้ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมาในวารสาร PLOS ONE ซึ่งหากเพื่อนๆ สนใจก็สามารถเข้าไปอ่านการวิจัยเพิ่มเติมได้ที่นี่
ที่มา livescience และ plos
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.