หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘หลุมดำ’ กันมาก่อนแล้ว พร้อมกับทฤษฎีมากมายที่เกี่ยวกับมัน ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างก็ศึกษากันมาอย่างยาวนานเป็นเวลากว่า 100 ปี!?
แต่เพื่อนๆ รู้ไหมว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครที่เห็นภาพของ ‘หลุมดำ’ มาก่อนเลยแม้แต่ครั้งเดียว ภาพต่างๆ นั้นเป็นเพียงการตีความมาจากทฤษฎีเท่านั้น!!
และเมื่อวาน (11 เมษายน 2562) ที่ผ่านมานับเป็นข่าวดีของมวลมนุษยชาติ จากเทคโนโลยีที่ก้าวไกลในปัจจุบัน ทำให้เราได้มีโอกาสเห็น ‘หลุมดำ’ แบบจริงๆ เป็นครั้งแรกแล้วจากกาแล็กซี่อันไกลโพ้น
มันมีขนาดความยาวถึง 40 พันล้านกิโลเมตร ใหญ่กว่าโลกถึง 3 ล้านเท่า! เหล่านักวิทยาศาสตร์เคยให้คำนิยามมันไว้ว่า “สัตว์ประหลาด” (a monster) เพราะขนาดและความลึกลับของมัน
หลุมดำดังกล่าวนั้นมีระยะห่างออกไปไกลกว่า 500 ล้านล้านกิโลเมตร และถูกถ่ายภาพโดยเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์เป็นจำนวน 8 ตัวทั่วโลกเรียกว่า Event Horizon Telescope (EHT)
ศาสตราจารย์ Heino Falcke แห่งมหาวิทยาลัย Radboud ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้กล่าวว่าหลุมดำดังกล่าวถูกค้นพบในกาแล็กซี่ที่เรียกว่า M87
“สิ่งที่เราเห็นมีขนาดใหญ่กว่าระบบสุริยะทั้งหมดของเรา และมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 6.5 พันล้านเท่า และเป็นหนึ่งในหลุมดำที่หนักที่สุดที่เราเคยพบเจอ สมกับฉายา ‘สัตว์ประหลาด’ ของหลุมดำในจักรวาล” เขากล่าว
ภาพที่ถูกเปิดเผยออกมานั้นแสดงให้เห็นถึง “วงแหวนแห่งไฟ” (Ring of Fire) ที่สว่างจ้า โดย Heino อธิบายเพิ่มเติมว่ารอบๆ หลุมดำนั้นเป็นวงกลมโดยสมบูรณ์แบบ และรัศมีเจิดจ้านั้นเกิดจากก๊าซร้อนที่ถูกดูดเข้าไปในหลุม
โดยธรรมชาติแล้วหลุมดำจะไม่สามารถมองเห็นได้เพราะสีดำสนิทของมันหรือที่เรียกว่า Event Horizon แต่แสงสว่างรอบๆ หลุมดำที่เจิดจ้ายิ่งกว่าดาวฤกษ์อื่นๆ หลายพันล้านดวงรวมกันในกาแล็กซี่นั่นเองที่เป็นสาเหตุทำให้มองเห็นหลุมดำได้ในระยะไกลจากดาวโลก
ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติเลยก็ว่าได้ที่สามารถจับภาพหลุมดำตามทฤษฎีของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ได้! จักรวาลของเรานั้นกว้างใหญ่ และมีสิ่งลึกลับมากมายต่างรอให้เราพบเจอ
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.