ประเทศซูดาน ประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกา ได้ถูกปกครองด้วยรัฐบาลประธานาธิบดี Omar al-Bashir ซึ่งมาจากทหารมายาวนานกว่า 30 ปี
แต่ล่าสุดเกิดการรัฐประหารขึ้น หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของซูดาน ได้ออกประกาศว่า ประธานาธิบดี Omar อยู่ภายใต้การควบคุมของทหารแล้ว และประกาศรัฐประหารยึดอำนาจ
เป็นการปิดฉากการปกครองภายใต้รัฐบาลทหารของ Omar ที่กินเวลายาวนานถึง 3 ทศวรรษ…
อดีตประธานาธิบดี Omar al-Bashir
ประธานาธิบดี Omar al-Bashir ผู้ปกครองซูดานมากว่า 3 ทศวรรษ
การขึ้นครองตำแหน่งของ Omar เกิดขึ้นเมื่อปี 1989 เมื่อเขาได้ทำการรัฐประหาร โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม กลุ่มอิสลามิสต์ ในการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ในช่วงที่เขายึดอำนาจ ซูดานอยู่ระหว่างสงครามการเมืองของซูดานเหนือและซูดานใต้ นานถึง 21 ปี
เขาชนะเลือกตั้งที่เขายุบพรรคคู่แข่ง และเป็นผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีโดยชอบธรรมเพียงคนเดียว ในปี 1996 จากนั้นจึงตั้งตนเป็นประธานาธิบดีครองตำแหน่งเรื่อยมา และชนะการเลือกตั้งติดต่อกันในปี 2010 และ 2015
เหตุการณ์ประท้วงในเมือง Darfur
ครั้งหนึ่งเกิดการลุกฮือขึ้นประท้วงเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้เกิดผู้เสียชีวิตราวๆ 300,000 คน จากผู้ประท้วง 2.5 ล้านคน
การตอบโต้อย่างรุนแรงของเขา ทำให้ศาลอาญาระหว่างประเทศตั้งข้อหาอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แก่เขา แต่เขาก็ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและรอดมาได้ทุกครั้ง
สุดท้ายเมื่อปี 2017 ทางสหรัฐอเมริกาฯ ได้ทำการคว่ำบาตรทางการค้ากับทางซูดานทั้งหมด
ซึ่งเป็นการปิดฉากความสัมพันธ์การค้าขายที่มีมา 20 ปี และทำให้ซูดานตกอยู่ในรายชื่อของ ‘ประเทศที่สนับสนุนด้านการก่อการร้าย’
การประท้วงของประชาชน สู่จุดเริ่มต้นของการรัฐประหาร
หากจะเริ่มต้นเรื่องนี้ ก็ต้องเริ่มต้นจากความรุนแรงในเหตุการณ์ประท้วงทั่วประเทศ จากประชาชนชาวซูดาน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2018 รวมระยะเวลาประท้วงนานถึง 4 เดือน
โดยพวกเขาได้ออกมาประท้วงขับไล่ประธานาธิบดี Omar ให้ออกจากตำแหน่ง รวมถึงกดดันให้รัฐบาลภายใต้การปกครองของเขายุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที
สาเหตุที่ประชาชนออกมาประท้วง คือเศรษฐกิจที่ตกต่ำถึงขีดสุดในประเทศ สินค้าต่างๆ โดยเฉพาะอาหาร มีราคาพุ่งสูงขึ้น ตรงข้ามกับรายได้ที่ตกต่ำลง เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาฯ ทำการคว่ำบาตรเมื่อหลายปีที่แล้ว จึงทำให้ขาดแคลนรายได้เข้ามาในประเทศ
ปัญหาเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้ชาวซูดานทุกกลุ่ม โดยเฉพาะสมาคมวิชาชีพชาวซูดาน (Sudanese Professionals Association: SPA) ที่มีกลุ่มแพทย์ เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข และทนายความ อยู่ในสมาคม ออกมาเป็นแกนนำในการประท้วงครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม Omar ก็ไม่ได้อยู่เฉย เขาได้ทำการประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อตอบโต้การประท้วง ทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการสลายการชุมนุมอย่างไร้ขีดจำกัด
เจ้าหน้าที่ได้ทำการสลายการชุมนุม แต่การประท้วงก็ยังคงดำเนินต่อไป
จนกระทั่งทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นในวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา เมื่อประชาชนหลายพันคน ได้ออกมานั่งประท้วง หน้ากระทวงกลาโหม และมีประชาชนเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมครั้งนี้ 11 คน
ซึ่งหากรวมกับรายงานของทางองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว การประท้วงที่มีมายาวนานถึง 4 เดือนนี้ มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 50 คน
การประกาศรัฐประหารครั้งใหม่
เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของซูดาน นายพล Ahmed Ibn Auf ได้ออกประกาศประกาศรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลชุดนี้ผ่านทางโทรทัศน์
โดยนายพล Auf กล่าวว่า รัฐบาลทหารของเขา จะทำหน้าที่รัฐบาลจนกว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่เป็นเวลา 2 ปี มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือเคอร์ฟิวเป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงเวลา 22:00-4:00 น.
และพักใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ชั่วคราว
นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่า พื้นที่ทางอากาศของซูดานจะถูกปิดเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ส่วนพื้นที่ทางชายแดนจะถูกปิด จนกว่าจะมีการประกาศเพิ่มเติม
นายพล Auf ได้เข้ารับการสาบานตนผ่านทางโทรทัศน์ โดยมีพลโท Kamal Abdel Marouf ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองประธานาธิบดี
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีคนเก่า Omar al-Bashir ได้ถูกควบคุม และจะถูกตัดสินโทษว่ามีความผิดหรือไม่ ในฐานกระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ บนศาลอาญาระหว่างประเทศ
การต่อต้านที่ไม่จบสิ้น
หัวหน้าแกนนำการประท้วงจาก SPA นาย Omer Eldigair ยังคงออกมายืนหยัดต่อต้านรัฐบาลที่มาจากทหาร
“เราจะไม่ยอมรับชัยชนะที่ได้มาครึ่งเดียวแบบนี้” นาย Omer กล่าว “ประชาชนยังคงจะเดินหน้าต่อไปบนถนน ทั้งในเมืองหลวงและทั่วทุกที่ เราจะไม่ยอมถอยจนกว่าจะได้รับชัยชนะที่แท้จริง!!”
ผู้ประท้วงหลายพันคนยังคงอยู่ในเมืองหลวง และหน้ากระทรวงกลาโหมเพื่อต่อต้านรัฐประหารซ้อนในครั้งนี้ แม้ว่าจะมีการประกาศเคอร์ฟิวก็ตาม
อีกทั้งทุกคนยังคอยตะโกนคำว่า “สันติ ความยุติธรรม อิสรภาพ” ด้านหน้ากระทรวง ตลอดระยะเวลา 6 วัน (ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน) ที่ผ่านมา
แม้จะเกิดการรัฐประหารแล้ว แต่การประท้วงและความวุ่นวายที่เกิดขึ้น กลับไม่จบลงแต่อย่างใด…
ที่มา: aljazeera, dailymail, cbc, theguardian
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.