งานวิจัยไขปริศนา “สัตว์กินลูกตัวเอง” บางชนิดจำใจทำ เพื่อความอยู่รอดของลูกที่เหลือ!?

สำหรับหลายๆ คนแล้ว เราคงจะทราบกันดีว่าสัตว์หลายๆ ชนิดที่เราคิดว่าน่ารักนั้นจริงๆ แล้วอาจจะมีพฤติกรรมที่ไม่ได้น่ารักอย่างที่เราคิดเท่าไหร่

นั่นเพราะในธรรมชาติมีสัตว์อยู่หลายชนิดที่อยู่ดีๆ ก็จะกินลูกของตัวเอง

และตั้งแต่ในสมัยก่อนนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถฟันธงได้อย่างแน่ชัดเลยว่าพวกมันทำไปเพื่ออะไร!?

 

 

ที่ผ่านๆ มานักวิทยาศาสตร์จะมองว่าการที่สัตว์กินลูกของตัวเองนั้นมีความเกี่ยวข้องกับความเครียดในการคลอดลูก หรือไม่ก็ความหิว

อย่างไรก็ตามจากการวิจัยล่าสุดนี้เอง นักวิทยาศาสตร์กลับพบว่าที่สัตว์กินลูกของตัวเองนั้น จริงๆ แล้วมีเหตุมีผลกว่าที่เราคิดมาก และอาจเกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ได้เลย

การทดลองที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จัดทำขึ้นมาโดยทีมนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ผู้ซึ่งเฝ้าสังเกตการณ์สัตว์จำพวก กระต่าย ปลา และไก่

 

 

โดยจากในการสังเกตการณ์แล้ว พวกเขาก็พบว่าสัตว์ที่มักกินลูกตัวเองจะมีจุดร่วมอยู่ที่การออกลูกพร้อมกันเป็นจำนวนมากๆ และการกินลูกเองก็มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นมากขึ้นในภาวะแวดล้อมที่เลวร้ายขึ้นด้วย

ดังนั้นทีมนักวิทยาศาสตร์จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่าการที่สัตว์เหล่านี้กินลูกตัวเอง อาจจะเกิดขึ้นจากการ “ควบคุมประชากร” เพื่อไม่ให้ลูกๆ แย่งอาหารกันมากเกินไป

และเพิ่มโอกาสให้ลูกที่เหลือมีโอกาสรอดมากขึ้น แถมยังเป็นการ “ควบคุมคุณภาพ” ของทายาทรุ่นต่อไปไปในตัวนั่นเอง

 

เพื่อพิสูจน์แนวคิดนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่นำโดยคุณ Mackenzie Davenport จากมหาวิทยาลัยเทนเนสซี จึงได้ทดลองสร้างแบบจำลองเชิงกลไกเพื่อสำรวจผลกระทบของพฤติกรรมของสัตว์ต่อลูกๆ ในรูปแบบต่างๆ ขึ้น

โดยการทดลองนี้ ได้มุ่งเน้นไปที่สัตว์ที่ออกลูกเป็นไข่เป็นหลัก

 

 

และการทดลองนี้เองก็ส่งผลออกมาอย่างน่าสนใจและสอดคล้องกับแนวคิดที่ออกมาอย่างยิ่ง…

โดยข้อมูลทางสถิติที่ออกมานั้นบอกว่ายิ่งสัตว์ออกลูกมากแค่ไหน พวกมันก็จะมีโอกาสกินลูกมากขึ้นเท่านั้น แถมปริมาณไข่ที่ถูกกินก็จะมีมากขึ้นตามจำนวนไข่ที่มีการวางออกมาด้วย

นอกจากนี้พวกเขายังพบด้วยว่าต่อให้เป็นในกรณีที่พ่อแม่จะแทบไม่ได้รับพลังงานจากกการกินลูกเลย โดยมากแล้วสัตว์เหล่านี้ก็จะยังคงกินลูกต่อไปอยู่ดี

ซึ่งเป็นหลักฐานอย่างดีว่าพวกมันนั้นไม่น่าจะกินลูกเพียงเพื่อความหิวอย่างที่เราคิด

 

 

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Ecology and Evolution เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งหากเพื่อนๆ สนใจก็สามารถเข้าไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติมกันได้ที่นี่

 

ที่มา dailymail และ phys

Comments

Leave a Reply