ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยี 3D-Printed หรือเครื่องพิมพ์ 3 มิติมาใช้ในงานออกแบบ สร้างสิ่งที่อยู่ในจินตนาการออกมาเป็นรูปร่างจับต้องได้ ตั้งแต่งานออกแบบศิลปะ การก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงทางด้านการแพทย์
ล่าสุดทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Tel Aviv ประเทศอิสราเอลสร้างโมเดลหัวใจจากเนื้อเยื่อมนุษย์ โดยใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติได้สำเร็จ ก่อนพัฒนาเป็นอวัยวะที่ใช้ปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยในอนาคต
งานวิจัยดังกล่าวได้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Advanced Science เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2019 ที่ผ่านมา โดย Tal Dvir หนึ่งในทีมนักวิจัยกล่าวว่า
“นี่เป็นครั้งแรกของโลกที่มีการสร้างหัวใจแบบ 3 มิติที่ประกอบไปด้วยเซลล์ หลอดเลือด และโครงสร้างอื่นๆ เสมือนจริง”
“การวิจัยในครั้งนี้การสร้างหัวใจ 3 มิติขณะเล็กเท่ากับหัวใจกระต่าย แต่ในอนาคตจะมีการพัฒนาให้มีขนาดใหญ่เท่ากับหัวใจมนุษย์”
องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า โรคหัวใจและหลอดหัวใจเป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของคนในปัจจุบัน มีผู้ป่วยมากมายที่รอการปลูกถ่ายหัวใจจากผู้บริจาคที่มีจำกัด ทำให้เกิดวิจัยนี้ขึ้นมา
ทีมวิจัยได้นำเซลล์เนื้อเยื่อไขมัน (Fatty tissue) ของผู้ป่วยมาใช้การพัฒนาโมเดลหัวใจนี้เพื่อลดความเสี่ยงที่ร่างกายผู้ป่วยจะเกิดการต่อต้านขณะปลูกถ่าย
ขั้นต่อไปคือการพัฒนาโมเดลหัวใจจากเนื้อเยื่อของผู้ป่วยนี้ให้สามารถใช้งานได้เสมือนจริงโดยทีมวิจัยได้กล่าวทิ้งท้ายว่า
“ไม่แน่ว่าอีก 10 ปีข้างหน้า เราอาจจะมีเครื่องพิมพ์อวัยวะอยู่ในโรงพยาบาลทั่วโลกก็เป็นไปได้”
ที่มา: CNN, independent, timesofisrael, futurism, euronews
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.